ก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสทำโปรเจ็คเล็กๆ ที่เขียนแนะนำสถานที่เที่ยวต่างๆ ที่น่าสนใจภายในกรุงเทพไป โดยใช้ชื่อโปรเจ็คว่า The Hidden Gems Thailand……..เสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์ที่ซ่อนเร้น ซึ่งจะเป็นการแนะนำสถานที่เที่ยวแบบ 1 Day Trip ที่น่าสนใจและหลายๆ คนอาจจะไม่เคยรู้ว่ามีสถานที่เหล่านั้นอยู่ โดยสถานที่ส่วนใหญ่ที่ผมเขียนถึงนั้นจะเป็นพวกพิพิธภัณฑ์หรือวังเก่าแก่เป็นหลักครับ ซึ่งตอนนั้นผมก็สามารถเขียนไปได้ทั้งหมด 9 สถานที่ด้วยกัน แต่หลังจากนั้นผมก็ยุ่งกับหลายเรื่องมากๆ จนไม่ได้เขียนสถานที่ใหม่ๆ เพิ่มเลย ทั้งๆ ที่มันยังมีสถานที่ที่ผมว่าน่าสนใจและอยู่ในรายชื่อที่ผมลิสต์ไว้เต็มไปหมด
และในที่สุดวันมาฆบูชาที่ผ่านมา ผมก็สามารถเคลียร์งานตัวเองได้หมดแล้วออกไปเดินท่องพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ที่เป็น The Hidden Gems Thailand ตามลิสต์ของผมได้อีกครั้ง โดยคราวนี้ผมเลือกไปที่วังสวนผักกาด วังที่เค้าว่ามีเรือนไทยที่สวยงามตั้งอยู่หลายหลัง รวมทั้งยังมีของเก่าแก่ล้ำค่ามากมายให้เราดู ที่สำคัญพื้นที่ของวังแห่งนี้ยังมีความร่มรื่นมาก มากจนไม่น่าเชื่อเลยว่าจะตั้งอยู่ที่ใจกลางกรุงเทพครับ!!!
เอาล่ะครับ ถ้าใครพร้อมจะไปชมวังสวนผักกาดกับผมแล้วก็ตามผมมาต่อได้เลยคร้าบบบ
Disclosure : บทความนี้เป็นบทความที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้บริการใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับตำแหน่งที่ตั้งของวังสวนผักกาดหรือพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดนี้จะตั้งอยู่บริเวณ ถ.ศรีอยุธยา เยื้องๆ กับ Pullman King Power ครับ โดยสำหรับใครที่ขับรถมาเองนั้นก็สามารถมาจอดรถภายในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดได้เลย เค้ามีพื้นที่ที่สามารถจอดรถได้ประมาณ 7-8 คัน ส่วนใครที่มาโดยรถสาธารณะนั้นบริเวณนี้ก็มีรถเมล์ผ่ายหลายสาย หรือถ้าใครถนัดเดินทางด้วย BTS ก็ลงที่สถานี BTS พญาไท จากนั้นก็ให้ออกที่ทางออก 4 และเดินตาม Google Map มาอีกประมาณ 500 เมตรก็จะเห็นวังสวนผักกาดอยู่ทางขวามือครับ
หมายเหตุ : สำหรับสายรถเมล์ที่ผ่านบริเวณวังสวนผักกาดนั้น ได้แก่ สาย 14, 17, 63, 72, 74, 77, ปอ.13, ปอ.33 และ ปอ.72 ครับ
ขอขอบคุณภาพแผนที่จาก
และสำหรับคนที่ไม่เคยมาที่วังแห่งนี้มาก่อน ไม่ต้องกลัวหลงหรือกลัวจะหาวังไม่เจอนะครับ เพราะพอเราเดินไปใกล้ๆ วังแล้วเราจะสามารถมองเห็นหมู่เรือนไทยที่มีความสวยงามแบบนี้อยู่ติดกับ ถ.ศรีอยุธยา อย่างชัดเจนเลย และผมว่ามันเป็นภาพที่หลายๆ คนจะคาดไม่ถึงเลยว่าจะมีเรือนไทยสวยๆ แบบนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางตึกสูงเสียดฟ้าในกรุงเทพและอยู่ติดกับถนนใหญ่แบบนี้ครับ
และไหนๆ ก็มาถึงที่นี่แล้ว ผมกับต๋งก็ขอถ่ายรูปด้านหน้าเป็นที่ระลึกไว้ก่อนนะครับ เพราะด้านในวังสวนผักกาดนั้นเค้าจะห้ามถ่ายรูปหลายที่เลยแหละ โดยใครที่ต้องการตามรอยเราทั้งคู่มาก็สามารถดูเวลาเปิดปิดของวังแห่งนี้ รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ ตามข้อมูลด้านล่างนี้ได้เลยครับ
วันที่เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน ไม่มีวันหยุด
เวลาที่เปิดให้เข้าชม : 9.00 น. – 16.00 น.
ค่าเข้าชมชาวไทย : ผู้ใหญ่ 50 บาท, เด็ก นักเรียน นักศึกษา 20 บาท
ค่าเข้าชมชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 100 บาท, เด็ก 50 บาท
เบอร์ติดต่อ : 02-2454934
เมื่อเราถ่ายรูปเสร็จแล้วคราวนี้เราก็ได้เวลาก้าวเท้าเดินเข้าไปในพื้นที่ของวังสวนผักกาดกันแล้วครับ โดยสิ่งแรกที่เราจะเห็นก่อนเลยก็คืออาคารปูนทางซ้ายมือที่ชื่อว่าศิลปาคารจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ แล้วก็ลานจอดรถเล็กๆ ที่สามารถจอดรถได้ประมาณ 7-8 คันทางขวามือครับ
จากนั้นให้เราเดินก้าวขึ้นตึกศิลปาคารจุมภฏ–พันธุ์ทิพย์ที่อยู่ทางซ้ายมือได้เลยครับ ที่บริเวณชั้น 1 ของตึกนี้จะมีเคาเตอร์เล็กๆ สำหรับการจำหน่ายบัตรเข้าชมอยู่ โดยราคาในการเข้าชมของผู้ใหญ่ชาวไทยจะอยู่ที่ 50 บาท/คน และเด็กชาวไทยจะอยู่ที่ 20 บาท/คน นะครับ เมื่อเราซื้อบัตรเสร็จแล้วทางเจ้าหน้าที่จะให้แผ่นพับข้อมูลของพิพิธภัณฑ์สวนผักกาดแห่งนี้กับเรามาด้วย โดยจะมีทั้งเวอร์ชั่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษเลย ใครชอบอ่านแบบไหนก็หยิบมานะครับ ส่วนวันนี้ผมหยิบมาทั้งสองภาษาเลย เผื่อเป็นข้อมูลในการเขียนรีวิวครับ ^^
อ้อ….ในการเข้าชมที่นี่เค้าจะไม่อนุญาตให้เราถือกระเป๋าใหญ่ๆ เข้าไปชมภายในพิพิธภัณฑ์นะครับ เราจะต้องฝากกระเป๋าทั้งหมดไว้ที่บริเวณตู้ลอคเกอร์บริเวณจุดจำหน่ายบัตร โดยตู้ลอคเกอร์นี้เค้าจะเปิดให้เราใช้บริการฟรี มีทั้งตู้ขนาดใหญ่และเล็ก ยังไงใครที่ตั้งใจจะถ่ายรูปภายในวังสวนผักกาดก็ไม่ต้องเอาอุปกรณ์อะไรไปเยอะนะครับ เพราะหลายจุดๆ ภายในพิพิธภัณฑ์นั้นเค้าก็ห้ามถ่ายรูปอยู่แล้ว เอาไปแค่กล้องกับเลนส์ 1 ตัว หรือไม่ก็มือถือซักเครื่องก็พอแล้วครับ จะได้ไม่ต้องเป็นภาระหรือกังวลกับการฝากกระเป๋ามาก
เอาล่ะ ก่อนที่จะเข้าไปชมภายในพิพิธภัณฑ์กัน ผมจะขอเล่าถึงประวัติและความเป็นมาของวังสวนผักกาดแห่งนี้ก่อนนะครับ
วังสวนผักกาดนั้นเคยเป็นที่ประทับใน พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต หรือ เสด็จในกรมฯ และชายา คือ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (เทวกุล) โดยพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ท่านคือพระนัดดา (หลาน) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ซึ่งแต่เดิมนั้นพื้นที่ของวังนี้เคยเป็นสวนผักกาดเก่าของคนจีนมาก่อน ต่อมาเมื่อท่านได้ตัดสินพระทัยว่าจะย้ายเข้ามาพักอาศัยอยู่จึงได้สร้างตำหนักขึ้นมาและย้ายมาอยู่เป็นการถาวรในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้ใช้ชื่อวังว่า “วังสวนผักกาด” ครับ
พื้นที่ของวังสวนผักกาดมีทั้งหมดประมาณ 6 ไร่ ภายในพื้นที่ประกอบไปด้วยเรือนไทย 8 หลัง, หอเขียน, อาคารเรือพระที่นั่ง และอาคารศิลปาคารจุมภฏ – พันธุ์ทิพย์อีก 1 อาคาร โดยเริ่มแรกในสมัยที่เสด็จในกรมฯ พักอาศัยอยู่นั้น จะมีเพียงแค่เรือนไทย 4 หลัง, หอเขียน, ตำหนัก และเรือนสำหรับผู้รับใช้พระองค์ท่านเท่านั้น โดยเรือนไทย 4 หลังแรกนี้เป็นมรดกที่ท่านได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษ มีอายุมากกว่า 100 ปี และมีความสวยงามมาก และเนื่องจากท่านมีของสะสมและของล้ำค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย ท่านก็เลยเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นๆ สามารถเข้ามาเยี่ยมชมบ้านของท่านได้ โดยที่ท่านก็ยังพักอาศัยอยู่ในขณะนั้นด้วย เพราะท่านเชื่อว่าโบราณวัตถุที่ท่านสะสมนั้นไม่ได้เป็นแค่ทรัพย์สินของท่าน แต่ท่านถือว่าเป็นมรดกตกทอดของมนุษยชาติ ท่านจึงไม่ควรเก็บไว้ชมเพียงผู้เดียวครับ
ทั้งนี้ต่อมาภายหลังวังสวนผักกาดก็ได้มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นมาหลายอย่าง ทั้งเรือนไทยหลังที่ 5-8 รวมถึงอาคารศิลปาคารจุมภฏ–พันธุ์ทิพย์ แต่อย่างไรก็ตามการจัดแสดงและการตกแต่งของพิพิธภัณฑ์สวนผักกาดแห่งนี้ก็ยังคงรูปแบบการเข้าชมบ้านมากกว่าพิพิธภัณฑ์ โดยในปัจจุบันนี้วังสวนผักกาดได้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ท่านก่อตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2511 เพื่อส่งเสริมด้านการศึกษาและการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมครับ
สำหรับของสะสมของเสด็จในกรมฯ ส่วนหนึ่งนั้นเป็นมรดกตกทอดมาจากพระบิดาของท่าน ซึ่งก็คือ จอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือ ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) กับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีครับ โดยวังของทูลกระหม่อมบริพัตรฯ นั้นก็คือวังบางขุนพรหม วังแสนสง่าริมแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง โดยท่านใดที่ต้องการอ่านเรื่องราวของทูลกระหม่อมบริพัตรฯ รวมถึงวังบางขุนพรหมเพิ่มเติม ก็สามารถกดไปอ่านที่ลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลยครับ
หลังจากที่เรารู้จักประวัติความเป็นมาของวังสวนผักกาดเรียบร้อย คราวนี้ก็ได้เวลาที่เราจะเข้าไปชมความงามของหมู่เรือนไทยกลางเมืองกรุง แล้วก็ชมของเก่าแก่ล้ำค่าทางประวัติศาสตร์กันแล้วครับ โดยการเข้าไปชมวังสวนผักกาดนั้นเราจะต้องเดินชมด้วยตัวเอง ไม่มีเจ้าหน้าที่เดินนำบรรยาย การเดินชมจะเป็นลักษณะของการเดินเป็นรูปแบบวงกลม คือ เข้าและออกทางเดิม เริ่มจากอาคารศิลปาคารจุมภฏ–พันธุ์ทิพย์ที่เราซื้อบัตร แล้วก็มาจบที่อาคารแห่งนี้เหมือนเดิมเพื่อรับกระเป๋าต่างๆ ที่เราฝากไว้ครับ
ทั้งนี้ในระหว่างการเดินชมภายในวังสวนผักกาดนั้น ห้ามเราสัมผัสวัตถุจัดแสดงต่างๆ ทุกชิ้นนะครับ และห้ามเราถ่ายรูปสิ่งของรวมถึงพื้นที่ภายในบริเวณอาคารต่างๆ ทั้งหมด เราจะสามารถถ่ายรูปได้เพียงบริเวณด้านนอกของอาคารเท่านั้นครับ ยังไงใครที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมที่นี่ก็ปฏิบัติตามกฎของเค้าให้เคร่งครัดด้วยนะครับ
สำหรับภาพด้านล่างนี้จะเป็นภาพแผนผังภายในวังสวนผักกาดแล้วก็ข้อมูลแบบคร่าวๆ ว่าแต่ละอาคารมีการจัดแสดงอะไรบ้างครับ
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก http://bit.ly/2TZqjav
และเนื่องจากภายในวังสวนผักกาดแห่งนี้เค้าห้ามถ่ายรูปภายในอาคารและสิ่งของต่างๆ ดังนั้นผมก็เลยจะขอเล่าภาพรวมแบบกว้างๆ ไปเลยว่าแต่ละอาคารนั้นมีการจัดแสดงหรือจุดเด่นอะไรบ้าง ใครที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกสนใจก็ค่อยหาโอกาสไปดูด้วยตาของตัวเองอีกทีนะครับ
เรือนไทยหลังที่ 1 : ชั้นล่างของเรือนไทยนั้นจะเป็นห้องดนตรีทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ใช้จัดแสดงเครื่องดนตรีไทยในทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งเพลงไทยสากล” ส่วนชั้นบนของเรือนนั้นจะประกอบไปด้วยโบราณวัตถุในยุคสมัยต่างๆ ทั้งของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโบราณวัตถุหลายชิ้นนั้นมีความสวยงามมากๆ ครับ
ทั้งนี้บริเวณชั้น 2 ของเรือนไทยหลังนี้จะมีทางเดินเชื่อมไปยังชั้น 2 ของเรือนไทยหลังอื่นๆ ด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมชอบการออกแบบแบบนี้มาก สวยงามและน่าอยู่มากครับ โดยในระหว่างที่เราเดินอยู่บนชั้น 2 ของแต่ละเรือนนั้นเราจะต้องถอดรองเท้าเดิน ซึ่งทางวังสวนผักกาดเค้าก็ได้มีการเตรียมถุงพลาสติกขนาดใหญ่สำหรับใส่รองเท้าไว้ให้เราที่บริเวณทางขึ้นเรียบร้อยแล้วครับ เราก็แค่หยิบรองเท้าใส่ถุงและเดินไปตามทางเรื่อยๆ จากนั้นก็คืนถุงที่บริเวณทางลงเท่านั้นเอง
เรือนไทยหลังที่ 2 : ชั้นล่างของเรือนไทยหลังนี้จะแสดงถึงหินและแร่ที่มีความสวยงามมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงถึงความเป็นนักสะสมของเสด็จในกรมฯ ได้เป็นอย่างดี โดยห้องนี้ท่านเรียกว่า “ห้องอาลีบาบา” ส่วนบริเวณชั้นบนนั้นจะมีโบราณวัตถุที่สวยงามมากมาย เช่น สัปคัปหรือกูบสำหรับนั่งบนหลังช้าง, ตู้พระไตรปิฏกลายรดน้ำ, เครื่องเรือนต่างๆ รวมถึงของใช้ส่วนพระองค์ เช่น ตะลุ่มและเตียบประดับมุก, ตลับงาช้าง, ขวดน้ำหอมจากต่างประเทศ รวมไปถึงตาลปัตรราชสกุลบริพัตร สำหรับให้พระสงฆ์ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาครับ
เรือนไทยหลังที่ 3 : ชั้นบนของเรือนไทยจะจัดแสดงเครื่องถ้วยเบญจรงค์ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ทำในประเทศไทยแล้วก็ส่วนที่ทำมาจากจีนโดยคนไทยเป็นผู้ออกแบบ นอกจากนี้ยังมีเครื่องถมเงินถมทอง, ภาพเขียนคนไทยและชาวต่างชาติ ที่มีอายุอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายหรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 23 ส่วนบริเวณตอนกลางของห้องนั้นจะจัดแสดงหนังสือพระธรรมใบลาน และเสลี่ยงคานหามและฉัตร ซึ่งใช้สำหรับเจ้านายชั้นสูงเท่านั้นครับ
เรือนไทยหลังที่ 4 : ปัจจุบันเรือนไทยหลังนี้ยังคงมีการใช้งานในโอกาสต่างๆ อยู่ โดยในอดีตเรือนไทยหลังนี้เคยใช้เป็นพื้นที่สำหรับต้อนรับและรับประทานอาหารค่ำ ส่วนพื้นที่ภายในห้องนั้นเป็นห้องพระที่ประกอบไปด้วยพระพุทธรูปในสมัยต่างๆ ของประเทศไทย รวมถึงมีการจัดแสดงภาพพระกบฏและบานประตูฝังมุกในสมัยอยุธยาตอนปลายด้วย นอกจากนี้ที่ชั้นล่างของเรือนไทยหลังนี้ยังมีพื้นที่ที่เหมือนศาลาเล็กๆ ริมน้ำด้วยนะครับ ใครที่เหนื่อยหรืออยากหาที่นั่งพักก็สามารถมานั่งพักผ่อนบริเวณนี้ได้
เรือนไทยหลังที่ 5 : ชั้นบนของเรือนไทยหลังนี้จะจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมบ้านเชียง ส่วนด้านล่างของเรือนจะจัดแสดงหิน, แร่ รวมถึงหอยและฟอสซิลต่างๆ ใครที่ไม่เคยเห็นฟอสซิลเยอะๆ ต้องมาดูที่นี่เลยครับ มีให้ดูเยอะมาก
เรือนไทยหลังที่ 6 : เรือนไทยหลังนี้จะเรียกว่า “พิพิธภัณฑ์โขน” โดยโขนนั้นคือการแสดงประกอบเรื่องรามเกียรติ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้แสดงจะต้องใส่หัวโขนเป็นตัวละครต่างๆ ในเรื่อง โดยชั้นล่างของเรือนนั้นจะจัดแสดงเป็นตุ๊กตาดินเหนียวในตอนต่างๆ ของรามเกียรติ์ ซึ่งผมว่าตุ๊กตาดินเหนียวที่เค้าจัดแสดงนั้นมีความสวยงามมากครับ ส่วนชั้นบนของเรือนจะจัดแสดงชฎา, หุ่นละครเล็ก และหัวโขนขนาดเท่าของจริงครับ
เรือนไทยหลังที่ 7 : เรือนไทยหลังนี้จะจัดแสดงเครื่องชามสังคโลกสมัยสุโขทัย, เครื่องถ้วยจีน, เครื่องเคลือบสีเขียว และตุ๊กตาเสียกบาล ส่วนด้านนอกของเรือนไทยนั้นจะจัดแสดงเครื่องมือหิน, เครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาเวียงกาหลง จ.เชียงราย
เรือนไทยหลังที่ 8 : เรือนไทยหลังนี้จะจัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ทั้งที่เป็นเครื่องแก้วลายทอง, เครื่องแก้วคริสตัล, เครื่องเงินและเครื่องลายครามทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีแจกันรูปผักกาดที่เป็นสัญลักษณ์ของวังสวนผักกาดแห่งนี้ด้วยครับ ใครที่เดินไปถึงเรือนไทยหลังนี้แล้วอย่าลืมที่จะมองหาแจกันรูปผักกาดนี้ด้วยนะครับ ไม่งั้นเดี๋ยวจะมาไม่ถึงนะ
หอเขียน : หอเขียนแห่งนี้ตั้งอยู่บนสนามหญ้าทางทิศใต้ของวังสวนผักกาด เป็นหอทรงไทยขนาดเล็กแต่มีความสวยงามมาก โดยหอเขียนหลังนี้เสด็จในกรมฯ ได้ผาติกรรมมาจากวัดบ้านกลิ้ง จ.พระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2501 และคาดการณ์ว่าหอเขียนนี้มีอายุอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเสด็จในกรมฯ มีความประสงค์อยากจะอนุรักษ์ให้สถาปัตยกรรมของไทยที่มีความสวยงามแบบนี้คงอยู่ตลอดไป ซึ่งภายหลังจากการซ่อมแซมและการอนุรักษ์เสร็จเรียบร้อย เสด็จในกรมฯ ก็ได้มอบให้เป็นของขวัญวันเกิดแก่ชายาของท่าน เนื่องในวันครบรอบอายุ 50 ปีครับ
ทั้งนี้หอเขียนแห่งนี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดเลยครับ และผมแนะนำทุกคนเลยว่าห้ามพลาดที่จะเดินขึ้นไปชมด้านบนโดยเด็ดขาด ภาพลายรดน้ำ 2 เรื่องซึ่งได้แก่ เรื่องพุทธประวัติ และเรื่องรามเกียรติ์ ที่อยู่บนฝาผนังชั้น 2 ของหอเขียนนั้นมีความสวยงามและวิจิตรมากครับ
เรือพระที่นั่งเก้ากึ่งพยาม : เรือพระที่นั่งเก้ากึ่งพยาม คือ เรือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ซึ่งเป็นพระบิดาของเสด็จในกรมฯ เพื่อใช้เป็นขบวนเรือตามเสด็จประพาสต้น ตัวเรือทำด้วยไม้ตะเคียนทอง ส่วนเก๋งเรือและหลังคาทำด้วยไม้สักทองครับ
ศิลปาคารจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ : อาคารแห่งนี้จะเป็นอาคารปูนขนาดใหญ่ และเป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาหลังสุด เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2539 มีทั้งหมด 4 ชั้น โดยพื้นที่ชั้น 2 ของอาคารจะเป็นห้องจัดแสดงโบราณวัตถุในวัฒนธรรมบ้านเชียง, ห้องศิลปนิทรรศมารศี ที่ใช้เป็นที่จัดกิจกรรมและนิทรรศการศิลปะแขนงต่างๆ หมุนเวียนตลอดทั้งปี เพื่อเป็นการส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ศิลปินได้นำผลงานต่างๆ ออกมาแสดงมากขึ้น ส่วนบริเวณชั้น 3 และ 4 ของอาคารนั้นจะเป็นพื้นที่ของสำนักงานมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ครับ
และตอนนี้ผมก็ได้พาทุกคนเดิมชมเรือนไทยทั้ง 8 หลังแล้วก็อาคารต่างๆ ภายในวังสวนผักกาดไปครบหมดแล้ว แต่ทั้งนี้ตามสวนและบริเวณต่างๆ ของวังแห่งนี้ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายอย่างครับ โดยสิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมากที่สุดก็คือความร่มรื่นของวังแห่งนี้ ใครจะไปคาดคิดล่ะครับว่าใจกลางกรุงเทพที่มีตึกสูดเสียดฟ้ามากมาย กลับมีหมู่เรือนไทยและสวนเขียวขจีแบบนี้ตั้งอยู่ด้วย
ผมให้ดูภาพบรรยากาศต่างๆ ภายในวังสวนผักกาดแห่งนี้เพิ่มเติมนะครับ ทุกคนจะได้รู้ว่าบรรยากาศมันน่าเดินมากแค่ไหน โดยต้นไม้ตามจุดต่างๆ ภายในวังแห่งนี้จะมีการติดชื่อและสมบัติที่น่ารู้บอกด้วยนะครับ และถ้าทุกคนสังเกตดีๆ จะเห็นว่าเวลาเราถ่ายภาพมุมกว้างๆ หรือมองออกไปนอกวัง เราจะสามารถเห็นได้ชัดเลยว่านี่เรากำลังอยู่ใจกลางกรุงเทพจริงๆ
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของผมกับต๋งหลังจากที่เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดมาครับ โดยรวมๆ แล้วเราทั้งสองคนประทับใจในความสวยงามของหมู่เรือนไทยและความร่มรื่นของวังแห่งนี้มาก ส่วนของเก่าแก่และโบราณวัตถุที่จัดแสดงภายในวังนั้นก็ล้วนแต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และหาดูได้ยาก เพียงแต่ด้วยรูปแบบของการเข้าชมวังนี้ที่ให้เราเดินชมด้วยตัวเองเป็นหลัก ต้องอ่านป้ายต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลหรือเดินบรรยายไปด้วย ทำให้เราได้รับข้อมูลที่น่าสนใจและมีประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก รวมถึงอาจจะทำให้บางคนที่ไม่ชอบเดินดูของเก่าด้วยตัวเองนั้นอาจจะรู้สึกเบื่อไปเลยก็ได้ แบบเดินๆ แค่ 30-45 นาทีก็อยากกลับแล้ว ซึ่งหากทางพิพิธภัณฑ์สามารถปรับรูปแบบการชมให้มีความน่าสนใจขึ้นกว่านี้ หรือมีเจ้าหน้าที่คอยเดินนำชมเป็นรอบ ผมว่าหลายๆ คนที่ไปน่าจะต้องประทับใจอย่างแน่นอนครับ
แต่สำหรับใครที่คิดว่าไม่ได้มีปัญหาในการไปเดินชมของเก่าแก่แบบนี้ และอยากจะไปสัมผัสกับความสวยงามของหมู่เรือนไทยกลางเมืองกรุง ไปดูของเก่าแก่ล้ำค่าด้วยตาตัวเอง โดยเฉพาะภาพลายรดน้ำที่หอเขียน ผมบอกเลยว่าค่าเข้า 50 บาทต่อคนนั้นเป็นอะไรที่คุ้มมากครับ ยิ่งใครที่ไปกับคนที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์หรือโบราณวัตถุด้วยแล้ว คุณสามารถจะอยู่ได้ 2-3 ชั่วโมงเลยครับ
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านจนจบ และสำหรับใครที่ชอบท่องเที่ยวในสถานที่แบบนี้ก็สามารถไปอ่านบทความตามลิงก์ด้านล่างของผมต่อได้เลยว่า The Hidden Gems Thailand ที่อื่นๆ ที่ผมเคยไปมาแล้วนั้นมีที่ไหนบ้าง ไม่แน่นะ………มันอาจจะมีอีกหลายที่ที่คุณยังไม่เคยรู้ ยังไม่เคยไปมาก่อนก็ได้ครับ
และสำหรับใครที่อยากจะติดตามเรื่องราวของการกินและเที่ยวของผมกับต๋งแบบใกล้ชิด ก็สามารถกดติดตามได้ที่แฟนเพจ “ภรรยาหา สามีใช้” ได้เลยครับ แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผมในวันที่ไปใช้บริการเท่านั้นครับ แต่ละท่านที่ได้มีโอกาสไปใช้บริการอาจจะได้รับการบริการที่แตกต่างจากนี้