พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ……….ทันทีที่ผมเอ่ยปากคำนี้ออกมา ผมเชื่อว่าน่าจะมีหลายๆ คนที่ร้องยี้ หรือเบือนหน้าหนีแน่ๆ เพราะภาพลักษณ์และความรู้สึกที่มีต่อสถานที่แห่งนี้มันถูกปลูกฝังมาในจิตใจหลายคนมาเป็นเวลานานมาก ซึ่งผมก็ไม่ได้จะมาคัดค้านหรือโน้มน้าวเปลี่ยนใจใครให้คิดใหม่นะครับ เพราะหากถามตัวผมเอง ในบรรดา The Hidden Gems Thailand หรือสถานที่เร้นลับดีๆ ในเมืองไทยที่ตอนนี้ผมเขียนมาแล้ว 6-7 เรื่อง ที่นี่ถือว่าเป็นสถานที่ที่ผมว่าให้อารมณ์ความรู้สึกน่าเบื่อมากที่สุดเลยครับ 5555555555

.

.

.

.

แต่ถ้าถามผมว่าคุ้มค่า น่าไปหรือเปล่า อันนี้ผมก็สามารถตอบได้เลยโดยไม่ต้องคิดอะไรให้ยุ่งยากครับว่า คุ้มค่า น่าไปมาก 30 บาท/คน แต่ได้เห็นอะไรแบบนี้ ใกล้ชิดแบบนี้ โคตรจะคุ้มค่าเลยครับ และสำหรับหลายๆ คน ผมบอกเลยว่าไปที่นี่แค่วันเดียวไม่พอจ้า!!!

Disclosure : บทความนี้เป็นบทความที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้บริการใดๆ ทั้งสิ้น

และก่อนที่เราจะเข้าไปชมความงาม ความล้ำค่าที่ไม่สามารถจะประเมินราคาได้นั้น เราไปทำความรู้จักกับข้อมูลพื้นฐานและที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ก่อนดีกว่าครับ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตพระนคร บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล หรือส่วนหนึ่งของที่ประทับวังหน้า ซึ่งก็คือพื้นที่พระราชวังของสมเด็จพระบวรราชเจ้า หรือพระมหาอุปราช ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๕ จำนวน 5 พระองค์ด้วยกัน โดยเดิมพื้นที่พระราชวังแห่งนี้มีอาณาเขตที่กว้างมากไล่ตั้งแต่บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มณฑลพิธีท้องสนามหลวงตอนตะวันตก, อนุสาวรีย์ทหารอาสา และโรงละครแห่งชาติในปัจจุบันครับ

“พระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ “วังหน้า” นั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2325 หรือช่วงเวลาเดียวกับพระบรมมหาราชวัง เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชของกรุงรัตนโกสินทร์ จนในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังจากการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระมหาอุปราชพระองค์ที่ 5 ของกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2429 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระองค์แรกที่ทรงดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร ทำให้ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถูกยกเลิกตั้งแต่นั้นมาและทำให้พระราชวังแห่งนี้ว่างลง จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าให้ “มิวเซียมหลวง” ณ ศาลาสหทัยสมาคม หรือ หอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวังมาตั้งแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

หลังจากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรสถานในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมดให้จัดเป็น “พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร” จนกระทั่งประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครจึงได้สังกัดกับกรมศิลปากรและได้ประกาศเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” ตราบจนเท่าทุกวันนี้

สำหรับใครที่มาที่นี่ไม่ถูกก็สามารถดูแผนที่ตามด้านล่างได้เลยครับ ตำแหน่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะอยู่บริเวณสนามหลวง ข้างๆ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลย มีรถเมล์ผ่านหลายสายมาก และสำหรับคนที่ขับรถไปเองภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก็มีที่จอดรถให้ครับ เพียงแต่ปริมาณที่มีอาจจะไม่มากซักเท่าไหร่ หากใครต้องการขับรถไปก็ควรจะต้องไปช่วงเช้าๆ หน่อยครับ

หมายเหตุ : สายรถประจำทางที่ผ่านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้แก่ 3, 6, 9 ,19, 30, 33, 43, 53, 59, 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 124, 201, 503, 506, 507 และ A2

นี่เป็นหน้าตาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ครับ ใครที่ไปแถวสนามหลวงบ่อยๆ น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดี

ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะมีการจัดแสดงของล้ำค่าและโบราณวัตถุ, โบราณสถานที่ไม่สามารถประเมินค่าได้เป็นจำนวนมาก โดยจะมีการแบ่งหมวดหมู่ของของเหล่านั้นออกเป็นหมวดต่างๆ และจัดแสดงแยกออกไปตามแต่ละอาคารหรือพระที่นั่งครับ โดยตอนที่เราไปซื้อบัตรเข้าชมนั้นทางเจ้าหน้าที่จะนำแผนที่ภายในพิพิธภัณฑ์มาให้เราดู พร้อมกับบอกว่าในช่วงดังกล่าวนั้นอาคารไหนที่เปิดให้เข้าชมบ้าง เพราะในช่วงนี้ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีการปรับปรุงอาคารและพื้นที่การจัดแสดงหลายจุด ทำให้หลายๆ บริเวณเราไม่สามารถเข้าไปชมได้ครับ

แต่อย่างไรก็ตามขนาดช่วงที่ผมไปนั้นเป็นช่วงที่ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีการเปิดพื้นที่ให้เข้าชมประมาณ 40% ของทั้งหมด ผมก็แทบจะใช้เวลาทั้งวันในการเข้าชมแล้ว ดังนั้นใครที่คิดว่าจะรอไปตอนที่เค้าเปิดให้เข้าชมแบบครบๆ ทีเดียวนั้น ผมบอกเลยว่าคิดผิดมาก เพราะถ้าเค้าเปิดให้เข้าชมทั้งหมดนั้น คุณอาจจะต้องใช้เวลาในการเข้าชมถึง 2 วันด้วยกัน @_@ ดังนั้นผมว่าไปตอนที่เค้ากำลังเปิดเข้าชมประมาณนี้แหละครับกำลังดี ค่อยๆ เดินชมไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบ และเมื่อทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เค้าเปิดในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม เราค่อยหาโอกาสไปอีกรอบครับ

เมื่อเราเข้ามาในพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แล้ว ก็ให้เราเดินเลี้ยวซ้ายเลยนะครับ และเดี๋ยวเราก็จะเจอกับจุดจำหน่ายตั๋วเข้าชมหน้าตาแบบนี้

โดยทั้ง 2 ข้างของจุดจำหน่ายตั๋วนั้น จะขนาบไปด้วยร้านขายกาแฟ และร้านขายของที่ระลึก Museum Shop ใครอยากจะอุดหนุนอะไรก็จัดไปครับ

ส่วนราคาตั๋วเข้าชมและเวลาเปิดทำการของที่นี่ก็ตามนี้เลยครับ

วันที่เปิดให้เข้าชม : วันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์ และ วันอังคาร)

เวลาที่เปิดบริการ : 9.00 น. – 16.00 น. (เปิดจำหน่ายบัตรถึง 15.30 น.)

ค่าเข้าชม : คนไทย 30 บาท, ต่างชาติ 200 บาท, นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ นักบวช และพระ เข้าชมฟรี

กรณีที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณานัดหมายล่วงหน้า และสำหรับชาวต่างชาติจะมีรอบบรรยายภาษาต่างๆ ในเวลา 9.30 น. ดังรายละเอียดต่อไปนี้

วันพุธ : ภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, เยอรมัน

วันพฤหัส : ภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, เยอรมัน

วันเสาร์ : ภาษาอังกฤษ (10.00 น.)

หมายเหตุ : ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไม่อนุญาตให้นำเอากระเป๋าสะพายหลังทุกประเภท รวมไปถึงกระเป๋าสะพายข้างขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่จัดแสดงนะครับ ดังนั้นหากใครนำกระเป๋าดังกล่าวไปด้วยจะต้องฝากไว้บริเวณจุดจำหน่ายตั๋ว โดยสามารถฝากได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ

เอาล่ะ ถ้าทุกคนเตรียมตัวกันพร้อมแล้ว มาตามผมไปชมภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กันเลย โดยจุดแรกหรืออาคารหลังแรกที่ผมจะพาทุกคนเข้าไปชมนั่นก็คือ “พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน” โดยพระที่นั่งแห่งนี้เปรียบเสมือนจุดไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เลย ใครที่มีเวลาน้อยควรจะเดินเข้ามาชมที่นี่เป็นที่แรก เพราะทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะมีการนำเอาสุดยอดของล้ำค่าที่ประเมินราคาไม่ได้มารวมกันไว้ในที่นี้ครับ โดยทางพิพิธภัณฑ์จะมีการหมุนเวียนหัวข้อในการจัดแสดงไปเรื่อยๆ ซึ่งในช่วงที่ผมไปนั้นจะเป็น “นิทรรศการแผ่นดินไทยในอดีต” ที่นำสุดยอดโบราณวัตถุ, ศิลปวัตถุ ของไทยทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ไทย จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มาให้เราดูครับ

นี่คือหน้าตาของ “พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน” ครับ เป็นอาคารขนาดใหญ่อยู่ทางด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์เลย ข้างในพระที่นั่งติดแอร์เย็นฉ่ำ ส่วนด้านหน้าก็มีปืนใหญ่ให้เราถ่ายรูปเก๋ๆ ด้วยครับ

สำหรับระเบียบการเข้าชมภายในแต่ละอาคารของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นั้นก็มีแค่ไม่กี่ข้อ และพวกเราสามารถทำได้ง่ายๆ ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้ครับ

  • สามารถถ่ายภาพนิ่งได้ แต่ห้ามใช้แฟลช

  • ห้ามบันทึกภาพเคลื่อนไหว

  • ห้ามใช้ขาตั้งกล้อง

  • ห้ามนำเอากระเป๋าสะพายหลังทุกชนิด รวมถึงกระเป๋าสะพายข้างขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่จัดแสดง

  • ห้ามนำอาหารและขนมเข้าไปในอาคารพื้นที่จัดแสดง โดยที่บริเวณด้านหน้าของแต่ละอาคารทางพิพิธภัณฑ์จะมีการตั้งจุดให้เรานำอาหารหรือเครื่องดื่มวางไว้ก่อนที่จะเดินเข้าไป

  • ห้ามส่งเสียงดัง

  • ห้ามสัมผัสกับวัตถุจัดแสดง

  • โปรดแต่งกายสุภาพ

หมายเหตุ : สำหรับคนที่ต้องการใช้แฟลช, ขาตั้งกล้อง หรือบันทึกภาพเคลื่อนไหว จะต้องมีการติดต่อไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก่อนทุกครั้ง

หลังจากที่เราเข้ามาในพระที่นั่งศิวโมกขพิมานแล้ว สิ่งที่เราจะเห็นเป็นอย่างแรกก็คือ ภาพของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในอดีต ใครที่อยากจะรู้รายละเอียดลึกๆ ก็สามารถไปดูภาพและอ่านรายละเอียดใต้ภาพได้เลยครับ และถ้าใครบังเอิญไปตอนที่มีเจ้าหน้าที่ประจำจุดอยู่พอดี เราก็จะได้ข้อมูลอะไรที่น่าสนใจอีกเยอะมาก

และในจุดนี้นอกจากเราจะได้เห็นภาพของพระราชวังบวรสถานมงคลในอดีตแล้ว เรายังจะได้เห็นสมุดที่มีลายพระหัตถ์ของราชสกุลมหิดลทั้ง 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  รวมกันอยู่ในหน้าเดียวกันด้วยครับ บอกเลยว่าแค่ได้เห็นสมุดเล่มนี้เล่มเดียวก็ถือว่าเป็นบุญตาและคุ้มค่ามากๆ แล้ว

หลังจากนั้นเราก็จะได้พบกับโถงกว้างที่เต็มไปด้วยโบราณวัตถุที่มีค่ามากมาย โดยทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เลือกนำสุดยอดวัตถุโบราณในแต่ละยุคสมัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์, สมัยทวารวดี, ศรีวิชัย, ลพบุรี, ล้านนา, สุโขทัย, อยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น อย่างเช่น รูปปั้นพระศิวะ, พระนารายณ์, พระพุทธรูป, ทับหลัง, หลักศิลาจารึก มาให้เราดูกันครับ ซึ่งของแต่ละชิ้นนั้นต่างก็สวยงามและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากๆ

สำหรับช่วงอายุของวัตถุโบราณในแต่ละยุคสมัยก็จะประมาณนี้เลยครับ

  • สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุมากกว่า 2,000 ปี

  • สมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุประมาณ 1,500 – 1,800 ปี

  • สมัยทวารวดี มีอายุประมาณ 1,000 – 1,500 ปี

  • สมัยศรีวิชัย มีอายุประมาณ 800 – 1,300 ปี

  • สมัยลพบุรี (เขมรโบราณในประเทศไทย) มีอายุประมาณ 800 – 1,400 ปี

  • สมัยล้านนา มีอายุประมาณ 200 – 700 ปี

  • สมัยสุโขทัย มีอายุประมาณ 600 – 700 ปี

  • สมัยอยุธยา มีอายุประมาณ 250 – 600 ปี

  • สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอายุประมาณ 100 -200 ปี

โดยการชมวัตถุโบราณในพระที่นั่งศิวโมกขพิมานนั้นจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ แบบแรกก็คือการชมงานต่างๆ ด้วยตัวเองโดยการอ่านป้ายต่างๆ ที่เค้าติดไว้ ซึ่งผมแนะนำว่าหากใครมีเวลาก็ควรอ่านไปเรื่อยๆ นะครับ อ่านแล้วก็ได้อะไรเยอะดี

ส่วนแบบที่สอง ก็คือการเดินชมพร้อมกับวิทยากร ซึ่งเค้าจะบรรยายรายละเอียดต่างๆ ให้เราฟังเยอะมาก แต่เนื่องจากว่าวิทยากรของเค้านั้นมีน้อย และไม่ได้มีการใช้เครื่องขยายเสียง ดังนั้นจึงสามารถบรรยายได้แค่กลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ซึ่งก็มีโอกาสสูงที่เราไปแล้วเค้าอาจจะติดบรรยายกลุ่มอยู่ และเราต้องเดินชมด้วยตัวเองแทน แต่หากใครที่ไปแล้วทางวิทยากรสะดวกบรรยายให้เราฟังพอดี ผมแนะนำเลยว่าให้เดินตามใกล้ๆ เค้าไว้เลยครับ รับรองได้อะไรเยอะกว่าการอ่านด้วยตัวเองมาก อย่างผมเองก็ได้ความรู้เรื่องวิธีการสังเกตว่ารูปปั้นไหนเป็นพระนารายณ์, พระศิวะ, พระพรหม รวมไปถึงวิธีการแยกว่าพระพุทธรูปหรือวัตถุโบราณที่เราเห็นนั้นเป็นศิลปะในสมัยไหน เพราะในแต่ละยุคสมัยต่างก็มีรูปแบบศิลปะที่ไม่เหมือนกันครับ

อย่างเช่น สมัยสุโขทัย ก็จะเน้นที่ความอ่อนช้อยของท่วงท่า ดูแล้วอ่อนนุ่ม สวยงาม และเราจะสามารถสังเกตเห็นเปลวเพลิงที่เศียรของพระพุทธรูปได้อย่างชัดเจน

สมัยอยุธยา พระพุทธรูปจะมีรูปร่างที่อวบอ้วนกว่าสมัยสุโขทัยอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งลักษณะของเปลวเพลิงบนเศียรก็จะเป็นคนละรูปแบบกัน

ส่วนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น พระพุทธรูปจะมีการแต่งองค์ทรงเครื่องมากมายกว่าสมัยอื่นๆ ดูแล้วคล้ายกับเทพยดาบนสวรรค์ครับ

และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ประเทศไทยก็ได้เริ่มมีการเปิดประเทศและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชาติตะวันตกมากขึ้น ส่งผลให้พระพุทธรูปต่างๆ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและมีความคล้ายคลึงกับบุคคลธรรมดามากขึ้น ไม่ได้มีอภินิหาร หรือเครื่องประดับอะไรมากมายเหมือนเช่นในอดีต

ทั้งนี้วัตถุโบราณต่างๆ ที่เราเห็นภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นั้น เป็นของจริงทั้งหมดนะครับ และของหลายๆ ชิ้นมีความสวยงาม รวมทั้งแทบจะไม่สามารถหาดูที่ไหนได้เลย เช่น พระเจ้าห้าพระองค์นาคปรก และ พัดงาสาน ที่ทำมาจากงาช้าง, หีบพระธรรม สมัยอยุธยา เป็นต้น

แนะนำจริงๆ ครับ ใครที่ชอบวัตถุโบราณและศิลปะสมัยก่อนไม่ควรพลาดที่จะมาที่นี่ โดยเฉพาะภายในพระที่นั่งแห่งนี้ มันดีงามและคุ้มค่ามาก 30 บาท แล้วได้เห็นของแบบนี้ คุ้มจนไม่รู้จะพูดว่ายังไงแล้วครับ @_@

ครับ หลังจากที่เราชมพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งเป็นไฮไลท์สุดๆ ของที่นี่ไปแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องเดินไปชมความงามและความล้ำค่าของวัตถุโบราณอื่นๆ ตามอาคารและพระที่นั่งต่างๆ กันต่อแล้ว ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อาจจะเปิดให้เข้าชมไม่เหมือนกัน รวมทั้งของที่จัดแสดงในแต่ละอาคารอาจจะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปจากเดิม โดยทางเจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณขายตั๋วจะแจ้งให้เรารับทราบก่อนเข้าชมครับ

และเพื่อไม่ให้รีวิวนี้ยาวเกินไปจนน่าเบื่อ ผมก็เลยจะขอเล่าการชมพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้แบบย่อๆ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้นะครับ

กลุ่มที่ 1 : กลุ่มที่ผมแนะนำว่าห้ามพลาดโดยเด็ดขาด

กลุ่มที่ 2 : กลุ่มที่หากมีเวลาไม่เพียงพอสามารถที่จะข้ามได้

โดยในกลุ่มที่ 1 นั้น ผมจะมีทั้งหมด 3 ที่ด้วยกันได้แก่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์, พระตำหนักแดง และโรงราชรถ

นี่คือภาพของ “พระที่นั่งพุทไธสวรรย์” ครับ พระที่นั่งนี้จะอยู่ใกล้ๆ กับพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน และ ศาลาลงทรง ด้านหน้าพระที่นั่งจะมีรูปปั้นพระนารายณ์ทรงปืนและครุฑอยู่

ภายในพระที่นั่งแห่งนี้นอกจากจะมีความสวยงามมากแล้วยังได้ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” อยู่ด้วย ผมแนะนำเลยว่าทุกคนที่มาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ควรจะเข้ามากราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลครับ

จุดถัดมาที่ผมอยากจะแนะนำก็คือ “พระตำหนักแดง” โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้นพระตำหนักแดง ได้ถูกสร้างขึ้นภายในพระบรมมหาราชวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อพระราชทานเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางพระองค์น้อยในพระองค์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรื้อพระตำหนักฝ่ายในภายในเขตพระราชฐานชั้นในเพื่อเปลี่ยนเป็นตำหนักตึกทั้งหมด ดังนั้นจึงโปรดให้รื้อตำหนักแดงไปปลูกที่พระราชวังเดิม เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โดยได้แบ่งตำหนักแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา ซึ่งปัจจุบันตำหนักส่วนนี้ได้ถูกรื้อไปปลูกเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี ส่วนที่สองเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้ถูกตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตามรูปที่เห็นด้านล่างนี้ครับ

ภายในพระตำหนักแดงนั้นได้มีการจัดแสดงสิ่งของส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ ซึ่งเดิมของแต่ละอย่างนั้นต่างก็มีความสวยงามมากอยู่แล้ว และเมื่อได้มาถูกจัดแสดงในพระตำหนักแดงที่สร้างขึ้นมาด้วยไม้ทั้งหลังแบบนี้ ยิ่งทำให้ความสวยงามของสิ่งของเหล่านั้นสวยมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าครับ

จุดที่ 3 “โรงราชรถ” โดยสถานที่แห่งนี้จะใช้เก็บราชรถที่ไว้สำหรับเชิญพระบรมโกศออกถวายพระเพลิง โดยในการก่อสร้างโรงราชรถนั้นจะมีความเชื่อว่าหน้าโรงเก็บราชรถจะไม่สร้างถนนไว้ กำแพงด้านหน้าโรงราชรถจะไม่มีทางให้ออก หากจะใช้งานต้องทุบเท่านั้น และเมื่อเสร็จพิธีก็ต้องก่ออิฐปิดทันที เพราะเป็นความเชื่อที่ว่าราชรถไม่ควรจะอยู่ในสถานะพร้อมใช้งาน และจะจัดทำทางลาดยางสำหรับนำราชรถออกมาเฉพาะเวลามีงานพระบรมศพหรือพระศพเจ้านายเท่านั้น หากเสร็จงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพก็จะมีการรื้อทำลายทางลาดยางนั้น เพื่อเป็นเคล็ดที่ว่าราชรถที่เก็บในโรงเก็บราชรถจะได้ไม่ต้องออกไปอีก เปรียบเสมือนว่าจะไม่มีพระราชวงศ์องค์ใดสิ้นอีก

หมายเหตุ : ที่มาจาก https://minimore.com/b/Zwdfu/1

ภายในโรงราชรถจะประกอบไปด้วยราชรถ, ราชยาน อย่างพระมหาพิชัยราชรถ, พระเวชยันตราชรถ, ราชรถน้อย, แบบจำลองพระเมรุมาศ, พระจิตกาธาน, พระโกศจันทร์, พระหีบจันทร์  รวมไปถึงเครื่องประกอบพระอิสริยยศที่จะใช้ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ โดยทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะมีการเปิดวีดีโอและติดป้ายข้อมูลที่สำคัญให้เราดูตามจุดต่างๆ ครับ

สำหรับภาพนี้คือ “พระมหาพิชัยราชรถ” ราชรถที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2338 มีขนาดกว้าง 4.85 เมตร ความยาวรวมงอนรถ 18.00 เมตร สูง 11.20 เมตร น้ำหนัก 13.70 ตัน โดยหากนับถึงปัจจุบันนี้ได้มีการเชิญพระมหาพิชัยราชรถในงานพระบรมศพและพระศพต่างๆ รวมแล้วจำนวนทั้งหมด 24 ครั้ง (ไม่นับครั้งที่เชิญพระเวชยันตราชรถใช้งานแต่ให้ออกนามว่าพระมหาพิชัยราชรถในหมายกำหนดการ)

ส่วนภาพนี้คือราชรถน้อยครับ

ส่วนภาพนี้คือพระโกศจันทร์และพระหีบจันทร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยพระโกศจันทร์และพระหีบจันทร์จะประดิษฐานอยู่บนพระแท่นจิตกาธาน เบื้องล่างมีท่อนฟืนไม้จันทร์ลงรักปิดทอง จำนวน 24 ท่อน ล้อมรอบด้วยเทวดานั่งและยืนถือตาลปัตรบังเพลิง พร้อมด้วยยอดพระจิตกาธานรูปพรหมพักตร์

ส่วนภาพด้านล่างนี้คือภาพของพระเวชยันตราชรถ, พระจิตกาธานงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, แบบจำลองพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมไปถึงเครื่องประกอบพระอิสริยยศที่ใช้ในงานต่างๆ ครับ

ครับ และตอนนี้ผมก็พาทุกคนไปพบกับ 3 จุดที่ผมคิดว่าไม่ควรพลาดในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยสำหรับการเข้าชมของคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เจาะลึกในรายละเอียดมาก น่าจะใช้เวลาใน 3 จุดนี้รวมกับการชมวัตถุโบราณในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ประมาณ 2 – 2.30 ชั่วโมงครับ สำหรับใครที่มีเวลาเพียงพอสามารถจะชมพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ต่อได้ ก็ตามผมไปชมอาคารและพระที่นั่งต่างๆ ในหมวดที่ 2 ของผมต่อได้เลยครับ

โดยจุดแรกของหมวด 2 ที่ผมอยากจะแนะนำก็คือ “อาคารมหาสุรสิงหนาท” โดยอาคารแห่งนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เพราะวัตถุโบราณที่จัดแสดงในอาคารเหล่านี้จะเป็นวัตถุโบราณที่อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ไล่มาเรื่อยๆ ผ่านสมัยทวารวดี, ศรีวิชัย จนมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะทำการแบ่งเป็นห้องๆ ไว้ แยกเป็นตามแต่ละยุคสมัยครับ ใครที่สนใจในศิลปะยุคไหนเป็นพิเศษก็เข้าไปดูได้เลย ของที่จัดแสดงนั้นมีให้ดูเยอะมาก

จุดถัดมาคือ “ศาลาสำราญมุขมาตย์” ศาลานี้จะอยู่ใกล้ๆ กับพระตำหนักแดงเลยครับ โดยเดิมศาลานี้มีชื่อว่า “พระที่นั่งราชฤดี” เป็นพระที่นั่งโถงสำหรับลงสรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาและสรงน้ำพระพุทธรูป เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2446

จุดถัดมา “พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข” ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ใช้จัดแสดงงานโลหะกับงานประณีตศิลป์ เช่น ดาบ, พระพุทธรูป, เครื่องใช้ต่างๆ ใครที่สนใจศิลปะที่ทำจากโลหะก็สามารถเข้าไปชมที่พระที่นั่งแห่งนี้ได้เลย

ต่อกันที่ “พระที่นั่งอุตราภิมุข” ที่ใช้แสดงผ้าในราชสำนักสยาม โดยภายในพระที่นั่งนี้จะมีผ้าไทยสวยๆ รวมทั้งเครื่องแต่งกายต่างๆ ให้เราดูเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีวีดีโอที่สอนวิธีการนุ่งห่มผ้าในราชสำนัก รวมไปถึงวิธีการดูแลรักษาผ้าไทยเหล่านี้ด้วย

และสำหรับคนที่ชอบเกี่ยวกับเรื่องศัตราวุธและการศึกก็ต้องไปที่นี่เลย “พระที่นั่งบูรพาภิมุข” โดยภายในพระที่นั่งนี้จะมีการจัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ในสมัยก่อน, เสื้อยันต์, กลองศึก รวมถึงวิธีการจัดวางกองทัพด้วยครับ

และจุดสุดท้ายที่ผมอยากจะแนะนำก็คือ “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์” โดยพระที่นั่งแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์จนกระทั่งสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2508 โดยเดิมพระที่นั่งนี้มีชื่อว่า “พระที่นั่งวงจันทร์” ตามพระนามของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์พระธิดาในพระองค์

ลักษณะของพระที่นั่งแห่งนี้จะมีลักษณะคล้ายตึกฝรั่ง 2 ชั้น มีบันไดทางขึ้นชั้นบนจากภายนอกอาคาร  เพราะถือตามคติไทยโบราณที่ว่าการทำทางขึ้นจากชั้นล่างภายในอาคารเป็นการอัปมงคล โดยชั้นล่างของพระที่นั่งใช้จะเป็นที่พักอาศัยของบรรดามหาดเล็กพนักงาน ส่วนชั้นบนเป็นที่ประทับส่วนพระองค์  โดยแบ่งเป็นห้องต่างๆ 5 ห้อง อันประกอบไปด้วย ห้องทรงพระอักษร, ห้องรับแขก, ห้องเสวย, ห้องบรรทม และห้องแต่งพระองค์

ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างตู้ทองเรียงกัน 3 ตู้เพื่อใช้ประดิษฐานพระบรมอัฐิ โดยตู้กลางนั้นใช้ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตู้ด้านข้างนั้นประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งพระราชทานนามพระที่นั่งใหม่ว่า “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์” โดยในปัจจุบันพระที่นั่งแห่งนี้ได้จัดแสดงพระราชประวัติและพระอัจฉริยภาพของของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ

สำหรับใครที่ไม่เคยทราบถึงพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก่อน ผมขออนุญาตเล่าให้ฟังคร่าวๆ ดังนี้นะครับ

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี หรืออีกพระนามคือเจ้าฟ้าน้อย ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และเป็นพระอนุชาธิราชร่วมครรโภทรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษาได้ 13 เดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชบิดาได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ตามเสด็จไปประทับในพระบรมมหาราชวังกับพระราชบิดา และเมื่อพระองค์มีพระชนมพรรษาได้ 16 พรรษา ก็ได้ทรงรับราชการในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทรงปฏิบัติราชการโดยมีความดีความชอบเรื่อยมา จนเมื่อพระชนมพรรษาได้ 24 พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์” โดยพระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจจานุกิจทางด้านการทหารหลากหลายด้านมาก เช่น ด้านการทหารเรือ, ทหารบก, ทรงกำกับกรมทหารปืนใหญ่, กองอาสาญวณ เป็นต้น นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพทั้งด้านการทรงพระอักษรและพระนิพนธ์ภาษาอังกฤษ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงเป็นที่ปรึกษาในการทำสนธิสัญญากับชาวต่างชาติ

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเชษฐาได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานบวรราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงรับพระบวรราชโองการมีพระเกียรติยศเสมอเท่าพระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 ของประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นที่เคารพรักยิ่งของพสกนิกรชาวไทย อีกทั้งยังทรงเป็นพระอนุชาอันเป็นที่รักยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถทั้งทางด้านดนตรี, สรรพาวุธ, การสงคราม, วิชาการทหารแบบยุโรป ตลอดจนทรงรอบรู้เกี่ยวการภายในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจากทางตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงมีพระราชดำริพระราชทานบวรราชาภิเษกแด่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวให้มีพระเกียรติยศยศสูงกว่าวังหน้าพระองค์อื่นๆ ที่ได้เคยปรากฏมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีพระอาการประชวร และได้เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 สิริพระชนมพรรษาได้ 58 พรรษา และทรงอยู่ในบวรราชสมบัติสิริรวม 15 พรรษา

เมื่อทราบถึงพระราชประวัติของพระองค์เรียบร้อยแล้ว เราก็เข้าไปภายในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์กันต่อเลยนะครับ โดยที่ชั้น ล่างของพระที่นั่งจะจัดแสดงพระราชประวัติของพระองค์ รวมไปถึงพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ

นอกจากนี้ที่บริเวณชั้นล่างของพระที่นั่งแห่งนี้ยังได้มีการจัดแสดงถึงวิธีการบูรณะพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ให้มีความงดงามเหมือนเช่นดังในอดีตด้วย

ส่วนบริเวณชั้นบนของพระที่นั่งจะยังคงเป็นห้องทั้ง 5 เหมือนสมัยที่พระองค์ท่านเคยประทับอยู่ ซึ่งได้แก่ ห้องทรงพระอักษร, ห้องรับแขก, ห้องเสวย, ห้องบรรทม และห้องแต่งพระองค์ เพียงแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดห้องเสวยตรงกลางเป็นห้องประดิษฐานพระบรมอัฐิแทนดังที่เราได้เห็นอยู่ในปัจจุบันครับ

และนี่คือส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อีกหนึ่ง The Hidden Gems Thailand หรือสถานที่เร้นลับดีๆ ที่ทุกคนไม่ค่อยเปิดใจอยากจะไปกันซักเท่าไหร่ แต่ผมบอกเลยว่าที่นี่เป็นอีกที่ที่คุ้มค่าน่าไปมาก ค่าเข้า 30 บาท แต่ได้ดูอะไรที่มีค่าแบบนี้ หาดูที่ไหนไม่ได้แบบนี้ และสามารถใช้เวลาอยู่ได้ทั้งวันแบบนี้ มันเป็นอะไรที่เจ๋งและน่าไปมากครับ บรรยากาศโดยรวมๆ อาจจะดูน่าเบื่อ ชวนง่วงนอนไปนิด เมื่อเทียบกับพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่หลายๆ ที่ แต่เชื่อเถอะว่าพอเวลาผ่านไปซักพักคุณจะยิ่งรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ มันน่าสนุก มันน่าค้นหามาก ยิ่งถ้าคุณไปกลุ่มเพื่อนที่รู้ใจ หรือคนที่พอจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องโบราณวัตถุและประวัติศาสตร์ไทยด้วยแล้ว คุณจะยิ่งสนุกกับการไปที่นี่มากขึ้นครับ

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านจนจบ และเดี๋ยวรีวิวหน้าผมจะพาทุกท่านไปยังสถานที่เร้นลับแบบไหน ก็ติดตามกันได้ที่เวบไซต์แห่งนี้ หรือที่แฟนเพจ “ภรรยาหา สามีใช้” ได้เลยครับ ส่วนใครที่อ่านเรื่องราวของที่นี่จบแล้ว แต่ยังมีอะไรสงสัยอยู่ก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ตามรายละเอียดด้านล่างได้เลยครับ แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ

Fanpage : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เบอร์โทรศัพท์ : 02-2241333

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผมในวันที่ไปใช้บริการเท่านั้นครับ แต่ละท่านที่ได้มีโอกาสไปใช้บริการอาจจะได้รับการบริการที่แตกต่างจากนี้