หากพูดถึงพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ที่มีความน่าสนใจทั้งเรื่องราวที่นำเสนอ ทั้งการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาทำให้คนที่ได้เข้าชมรู้สึกตื่นตาตื่นใจหรือมีส่วนร่วมได้ง่ายๆ ตลอดจนถึงเรื่องของการจัดวางที่มีรายละเอียดแอบซ่อนอยู่แทบทุกที่ Museum Siam (มิวเซียมสยาม) น่าจะเป็นสถานที่แรกๆ ที่ผมนึกถึงครับ
เพราะเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน สมัยที่ตอนนั้นพิพิธภัณฑ์หรือสถานเรียนรู้ในเมืองไทยส่วนใหญ่ต่างก็นำเสนอในรูปแบบที่น่าเบื่อ การจัดวางสิ่งของและตัวหนังสือที่ดูแล้วชวนง่วงเหลือหลาย จนทำให้ทุกคนต่างก็ต้องร้องยี้เวลาที่มีคนเอ่ยปากชวนไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ต่างๆ จนกระทั่ง Museum Siam ได้ถือกำเนิดขึ้นมาครับ และที่นี่ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่พลิกโฉมหน้าการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์ในยุคนั้นไปเลย ด้วยรูปแบบตึกที่สวยงามแบบคลาสสิค การนำเสนอเรื่องราวที่ทำให้ทุกคนรู้สึกทึ่ง สนุกสนานและเกิดความอยากรู้ อยากค้นหาคำตอบตั้งแต่ต้นจนจบ และนั่นก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้ผมเริ่มให้ความสนใจออกท่องเที่ยวตามพิพิธภัณฑ์หรือสถานเรียนรู้ต่างๆ ครับ
Disclosure : บทความนี้เป็นบทความที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้บริการใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับประวัติคร่าวๆ ของ Museum Siam ที่ผมอยากจะให้ทุกคนรู้ก่อนที่จะเข้าไปรับชมด้านในกันก็มีดังนี้ครับ
Museum Siam มีชื่อเต็มๆ ว่า Museum Siam : Discovery Museum (พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ มิวเซียมสยาม) โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) และเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกของประเทศไทยที่เน้นการสร้างประสบการณ์สดใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ที่น่ารื่นรมย์ และช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ให้กับทุกคนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทย รวมถึงการสร้าง “แนวคิดและภาพลักษณ์ใหม่” ของพิพิธภัณฑ์ในสังคมแห่งการเรียนรู้ ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เพื่อให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่างๆ เป็นไปด้วยความสนุกสนานยิ่งขึ้น โดยมีหัวใจสำคัญของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติอย่าง “เพลิน = Play + Learn” เป็นปรัชญาที่สำคัญ
โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 บนพื้นที่กว่า 7 ไร่ของกระทรวงพาณิชย์เดิม ซึ่งพื้นที่นี้ได้มีอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียลอายุกว่า 80 ปี ที่มีความสวยงาม สะดุดสายตาแก่ผู้ที่พบเห็นเป็นตัวเอก และได้ใช้เวลาในการสร้างและปรับปรุงสถานที่ถึง 4 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 134 ล้านบาท จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งนี้ และได้เปิดพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา
และหลังจากที่ Museum Siam ได้ทำการเปิดให้คนภายนอกเข้าไปเรียนรู้ภายใต้หัวข้อการนำเสนอ “เรียงความประเทศไทย” มาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 Museum Siam ก็ได้ทำการปรับปรุงครั้งใหญ่ ทำการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในการนำเสนอใหม่ทั้งหมด และเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชม Museum Siam ในหัวข้อการนำเสนอใหม่ที่ชื่อว่า “ถอดรหัสไทย” และนี่แหละครับคือสิ่งที่ผมจะพาทุกคนไปเรียนรู้กันในวันนี้
ถอดรหัสไทย………ไปดูกันเถอะว่าอะไรคือไทยแท้ อะไรคือตัวตนของความเป็นไทย?
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักที่นี่ และไม่รู้จะเดินทางไปยังไงก็ดูแผนที่และรายละเอียดด้านล่างนี้ได้เลยครับ Museum Siam จะอยู่ใกล้ๆ กับวัดโพธิ์ มีรถเมล์ผ่านหลายสายอยู่ และสำหรับคนที่ขับรถไปก็สามารถจอดรถภายใน Museum ได้เลยครับ
รถยนต์ : ลงทางด่วนที่ด่านยมราช วิ่งเข้าเส้นหลานหลวง เข้าสนามหลวง ผ่านวัดพระแก้ว วิ่งตรงมาทางวัดโพธิ์ รถบังคับเลี้ยวซ้าย แล้วเลี้ยวขวาผ่านหน้ากรมที่ดิน เลี้ยวขวาอีกทีหน้า สน.พระราชวัง จากนั้นวิ่งตามทางมาเรื่อยๆ แล้ว Museum Siam จะอยู่ทางซ้ายมือครับ
รถเมล์ : สาย 3, 6, 9, 12, 32, 44, 47, 53, 82, 524
BTS : ลงสถานี “วงเวียนใหญ่” แล้วนั่งรถประจำทางสาย 82
MRT : ลงสถานี “หัวลำโพง” แล้วนั่งรถประจำทางสาย 1, 3, 5
เรือ : ลงท่าเรือ “ท่าเตียน” เดินออกมาจนเจอถนนใหญ่แล้วเลี้ยวขวา เดินตรงผ่านหน้าวัดโพธิ์ แล้วจะเห็น Museum Siam อยู่ทางซ้ายมือ
เมื่อเราเดินทางมาถึง Museum Siam แล้ว เราก็เจอกับอาคารสวยๆ สีเหลืองสไตล์โคโลเนียลแบบนี้นี่แหละครับ โดยอาคารแห่งนี้จะเป็นอาคาร 3 ชั้นที่ดูสวยงามและน่าถ่ายรูปมากๆ แห่งนึงแลยครับ
เมื่อเรามาถึงด้านหน้าอาคารแล้วก็ให้เราเดินตรงเข้าไปด้านในเลยครับ ที่ด้านในจะมีจุดจำหน้ายบัตรเข้าชมอยู่ โดยรายละเอียดของค่าเข้าชมและเวลาเปิดบริการจะอยู่ที่ด้านล่างนี้ครับ
วันเวลาเปิดบริการ
วัน : อังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์)
เวลา : 10.00 น. – 18.00 น.
ค่าเข้าชม
นักเรียน / นักศึกษา : 50 บาท/คน
ผู้ใหญ่คนไทย : 100 บาท/คน
ผู้ใหญ่ชาวต่างชาติ : 200 บาท/คน
เยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี, ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป, พระภิกษุสงฆ์, นักบวช, ผู้พิการและทุพพลภาพ และมัคคุเทศก์ : เข้าชมฟรี
ผู้มีบัตร Muse Pass : เข้าชมฟรี
ถ้ามาเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป : ลดค่าบัตรเข้าชม 50%
ทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ : เข้าชมฟรี
หลังเวลา 16.00 น. ของทุกวัน : เข้าชมฟรี
หลังจากที่เราซื้อบัตรเข้าชมเรียบร้อยแล้ว เราจะได้เป็นสายรัดข้อมือแบบนี้ครับ และทางเจ้าหน้าที่จะให้เอกสารในการรับชมพร้อมข้อมูลคร่าวๆ ว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะแบ่งการนำเสนอเรื่อง “ถอดรหัสไทย” ออกเป็นทั้งหมด 14 ห้องด้วยกัน โดยผู้ที่เข้าชมจะต้องเดินชมด้วยตัวเองทั้งหมด เริ่มจากที่ชั้น 3 ไล่ไปเรื่อยๆ ทีละห้องจนครบ จากนั้นก็ลงมาดูต่อที่ชั้น 2 จนครบทั้ง 14 ห้อง โดยในแต่ละห้องจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือเราอยู่ครับ
สำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ ทาง Museum Siam ก็จะมีรถเข็นรวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างลิฟท์ให้ครับ ส่วนบุคคลทั่วไปที่ไปเข้าชมแล้วมีสัมภาระเยอะ ก็สามารถที่จะติดต่อขอใช้ล็อคเกอร์เพื่อเก็บของได้ โดยในการใช้งานของเหล่านี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นครับ
เอาล่ะ สำหรับบุคคลปกติอย่างเราๆ เมื่อพร้อมแล้ว ก็ได้เวลาเดินขึ้นไปชมห้องแรกที่ชั้น 3 กันแล้วครับ โดยในการเดินขึ้นบันไดไปนั้นก็จะทำให้เราได้เห็นความสวยงามของสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียลของตึกนี้ได้อย่างใกล้ชิดเลย
และหลังจากที่เราเดินชมความสวยงามของตึกมาเรื่อยๆ จนถึงบริเวณกลางอาคาร เราก็จะเจอห้องหมายเลข 1 “ไทยรึเปล่า” โดยที่ห้องนี้จะเป็นการตั้งคำถามขึ้นมากับเราก่อนที่จะเริ่มชมนิทรรศการว่า หลายๆ อย่างที่คุณเคยเห็นในชีวิตที่ผ่านมา อย่างเช่น ตุ๊กตุ๊ก, ผัดไทย, ชฎา, ทศกัณฑ์ สิ่งเรานี้จริงๆ แล้วใช่ไทยรึเปล่า?
ถือว่าเป็นการเปิดห้อง เปิดการชมนิทรรศการแบบตีแสกหน้าคนชมด้วยไม้หน้าสามเลยครับ เพราะคำถามนี้ทำให้เราฉุกคิดอะไรได้เยอะมาก ยิ่งได้อ่านตัวอย่างของ Comment หรือบทความในสถานที่ต่างๆ ที่คนได้มีการถกเถียงกัน ยิ่งทำให้เราครุ่นคิดหนักขึ้นไปอีกระดับเลยทีเดียว
ทั้งนี้ในการเข้าชมแต่ละห้องนั้น ผมแนะนำให้ทุกคนเดินไปอ่านป้ายอธิบาย Concept ของห้องที่ติดไว้อยู่ในห้องนั้นๆ ก่อนจะเริ่มเดิมชมนะครับ โดยเฉพาะที่บริเวณกรอบด้านล่างสุด เพราะมันจะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เค้าต้องการนำเสนอ รวมถึงลูกเล่นต่างๆ ที่เค้าได้ซ่อนมันไว้อยู่ในห้องครับ
ต่อกันที่ห้องที่ 2 “ไทยแปลไทย” ที่ห้องนี้จะมีการจัดแสดงลำดับและพัฒนาการของความเป็นไทยมาให้เราดูกัน โดยจะเริ่มตั้งแต่ของเก่าแก่มากๆ เช่น หม้อบ้านเชียงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ไล่มาจนถึงหลักศิลาจารึกสมัยสุโขทัย, พระที่นั่งจักรี, เสื้อลูกไม้, ธงชาติ, รถตุ๊กตุ๊ก, หนังไทย จนไปถึงชุดประจำชาติที่เราเห็นในการประกวดนางงามในสมัยนี้
ที่ห้องนี้จะมีอะไรให้เราดูและอ่านรายละเอียดเยอะมากๆ ครับ เพราะไม่ใช่จะมีแค่ของที่เราเห็นว่าอยู่ในแต่ละช่องเท่านั้น แต่ตามลิ้นชักต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในตู้ขนาดใหญ่ทั้ง 4 ด้านก็จะมีของต่างๆ แอบซ่อนอยู่เยอะมาก และเมื่อเราเปิดไปดูก็จะเข้าใจถึงรายละเอียดที่เค้าต้องการนำเสนอมากขึ้นครับ
สำหรับห้องนี้ผมว่าใครที่เป็นคนชอบเก็บรายละเอียดน่าจะมีการใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 นาทีแน่ๆ
ห้องที่ 3 “ไทยตั้งแต่เกิด” ห้องนี้จะเป็นห้องที่แตกต่างจากห้องอื่นๆ มากที่สุดครับ เพราะในห้องอื่นๆ นั้นเราจะสามารถเดินชมและอ่านด้วยตัวเองได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องรออะไร แต่ในห้องนี้เราจะต้องรอให้ทางเจ้าหน้าที่เปิดระบบการนำเสนอขึ้นมาก่อน โดยเค้าจะเปิดเป็นรอบๆ มีทั้งรอบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนรูปแบบการนำเสนอนั้นจะเป็นการเล่าเรื่องลำดับและพัฒนาการของความเป็นไทยตั้งแต่ในสมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านแสง สี เสียง และกล่องโมเดลจำลองที่ซ่อนอยู่ในโต๊ะขนาดใหญ่บริเวณกลางห้อง โดยกล่องโมเดลเหล่านี้จะโผล่ขึ้นลงตามเนื้อหาที่กำลังเล่าอยู่ในขณะนั้น
ห้องนี้เป็นห้องที่ผมชอบมากเป็นลำดับต้นๆ ของการเข้าชม Museum Siam ในครั้งนี้เลยครับ เจ๋ง ดูเพลินและได้อะไรประดับสมองเยอะมาก
ห้องที่ 4 “ไทยสถาบัน” ห้องนี้จะเป็นห้องที่เราจะต้องขยับร่างกายและใช้ไหวพริบกันครับ โดยบนโต๊ะที่อยู่บริเวณกลางห้องนั้นจะมีลูกบาศก์วางไว้อยู่ทั้งหมด 27 ลูก และเราจะต้องนำเอาลูกบาศก์ทั้งหมดที่มีอยู่นั้นมากรุ๊ปเป็นหมวดหมู่เดียวกัน โดยในแต่ละหมวดหมู่จะต้องใช้ลูกบาศก์ทั้งหมด 9 ลูก ซึ่งหากเราทำสำเร็จ ภาพบนผนังก็จะเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์ของหมวดหมู่นั้นอันได้แก่ ชาติ, ศาสนา และพระมหากษัตริย์ครับ
ใครที่ได้มีโอกาสไปก็ลองเล่นดูนะครับ สนุกดี แต่อาจจะต้องรอคิวกันนิดนึงเพราะอุปกรณ์การเล่นมีเพียงชุดเดียวเท่านั้น ><
ห้องที่ 5 “ไทยอลังการ” ห้องนี้จะทำการจำลองท้องพระโรงของพระราชวังสมมุติแห่งหนึ่งขึ้นมา โดยมีราชบัลลังก์ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด เปรียบเสมือนกับพระอินทร์ที่ประทับอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาลตามคติไทยโบราณ
ห้องนี้เป็นห้องที่ทำให้หลายๆ คนขนลุกและรู้สึกถึงความขลังบางอย่างได้เลยครับ มันเป็นบรรยากาศที่เราแทบจะไม่มีโอกาสสัมผัสได้เลยจากในชีวิตประจำวันหรือการไปเที่ยวที่ไหนๆ และยิ่งถ้าใครเป็นคนที่ชอบสังเกตรายละเอียดยิบย่อยด้วยก็จะมองเห็นทั้งครุฑที่อยู่บริเวณราชบัลลังก์จำลอง, กลุ่มดาวต่างๆ บนเพดาน ที่เปรียบเสมือนดาวในจักรวาล รวมไปถึงภาพเทพนมบริเวณผนังที่เปรียบเสมือนเทวดามาชุมนุมกันในแดนสวรรค์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นดั่งศูนย์กลางของความเป็นไทยครับ
ห้องที่ 6 “ไทยแค่ไหน” ที่ห้องนี้จะเป็นการรวบรวมเครื่องแต่งกายต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับไทยไว้ ตั้งแต่แบบที่เกี่ยวกับไทยมาก หรือที่เรียกว่าเป็นไทยแบบเข้มๆ จนถึงแบบที่ถูกปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและรูปแบบนิสัยของคนไทยสมัยใหม่ที่เรียกว่าไทยจางๆ
ห้องนี้ใครที่เป็นคนขี้กลัวหน่อย หากมาคนสองคนอาจจะมีหลอนได้นะครับ ><
หลังจากที่เราชมห้องที่ 6 เสร็จ ก็จะเป็นการชมนิทรรศการที่ชั้น 3 ครบทุกห้องครับ ซึ่งหากใครอยากจะดูเรื่องราวตรงไหนซ้ำก็สามารถจะเดินย้อนไปย้อนมาได้ตามสะดวกเลย แต่ถ้าใครพร้อมจะไปต่อก็เดินลงไปที่ชั้น 2 เพื่อไปยังห้องที่ 7 ได้เลยครับ
ห้องที่ 7 “ไทย Only” ห้องนี้เป็นห้องที่ทำให้ผมขำตั้งแต่แว้บแรกที่เห็นเลยครับ เพราะห้องนี้จะทำการรวบรวมของต่างๆ ที่ถือว่าเป็นภูมิปัญญาระดับรากหญ้าของคนไทยไว้ ของที่ไม่สามารถหาเจอได้จากประเทศอื่น และหลายๆ อย่างก็แอบแฝงไปด้วยอารมณ์ขัน หรือสะท้อนวิธีคิดแก้ปัญหาแบบไทยไทยได้เป็นอย่างดีครับ
ต่อกันที่ห้องที่ 8 “ไทย Inter” หรืออีกชื่อที่หลายๆ คนเรียกกันติดปากมากกว่าว่า “ไทยเสนอ เทศสนอง” โดยห้องนี้จะมีการจัดแสดงออกเป็นกล่องๆ แต่ละกล่องจะมีสวิทซ์ให้เราโยกไปด้านซ้ายและขวาได้ โดยการโยกไปด้านนึงจะเป็นเรื่องราวที่เรามักจะภูมิใจนำเสนอความเป็นไทยออกไปให้ต่างชาติรับรู้ หรือที่เรียกว่า “ไทยเสนอ” ซึ่งมันจะมีความไฮโซ, ประณีต, สวยงาม, เลอค่า และมักจะไม่เห็นกันในชีวิตประจำวันจริงๆ ซักเท่าไหร่ แต่หากเราโยกสวิทซ์ไปอีกด้านนึงก็จะเป็นเรื่องราวเดียวกันนั้นแหละครับ แต่จะเป็นในมุมที่ชาวต่างชาติเห็นและสนใจ หรือที่เรียกว่า “เทศสนอง” โดยเรื่องราวที่ชาวต่างชาติสนใจนั้นจะเป็นเรื่องราวที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา มีชีวิตชีวา สามารถมองเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน และไม่ผ่านการประดิษฐ์ปรุงแต่งอะไรมากครับ
นี่เป็นอีกห้องนึงที่ผมว่าเค้าทำมาได้ดีมากๆ เลย ใครที่สนใจและมีเวลา ลองเดินดูให้ครบทุกกล่องนะครับ แล้วคุณจะได้อะไรกลับมาอีกพอควรเลย
ห้องที่ 9 “ไทยวิทยา” ห้องนี้จะมีการจำลองบรรยากาศของห้องเรียน 4 ยุค ตั้งแต่สมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง, สมัยหลังปี พ.ศ. 2500 ที่มีเรณู – ปัญญา เป็นแบบเรียนหลัก, สมัย พ.ศ. 2530 ที่ใช้แบบเรียนอย่างมานะ – มานี และสมัยปี พ.ศ. 2540 ที่เริ่มมีคอมพิวเตอร์เข้ามาในห้องเรียน รวมถึงมีการกล่าวถึงพระราชกรณียกิจและแนวคิดปรัชญาพอเพียงในแบบเรียนและสื่อต่างๆ เพื่อให้เราได้เห็นภาพว่าเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลแต่ละยุคสมัยใช้ในการปลูกฝังความเป็นไทยให้เยาวชนในตอนนั้นจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
ห้องนี้เป็นอีกหนึ่งห้องที่ผมชอบบรรยากาศในการจัดแสดงของเค้ามากๆ แต่ละจุดมีดีเทลแอบซ่อนอยู่เต็มไปหมด เช่น หนังสือในโต๊ะเรียนที่สอดคล้องกับเรื่องราวที่นำเสนอในยุคนั้น หรือแม้กระทั่งชุดนักเรียนที่เค้าแขวนไว้ที่หลังห้อง เราก็ยังสามารถหยิบมาใส่และถ่ายรูปได้ด้วยนะครับ บอกเลยว่าใครที่ชอบถ่ายรูปและมีนางแบบไปด้วยนี่จะเป็นอะไรที่สนุกมาก
ห้องที่ 10 “ไทยชิม” อีกหนึ่งห้องที่ผมว่าทาง Museum Siam ทำออกมาได้ดีมาก ด้วยการหยิบเอาเรื่องอาหารไทยซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเราทุกคนมาพูด และในการหยิบมาพูดครั้งนี้ยังมีลูกเล่นที่น่าสนใจมากมาย ทั้งการตั้งคำถามที่หน้าจานชวนให้เราพลิกไปดูคำตอบที่ด้านหลัง อย่างเช่น ปลากริมกับไข่เต่าของจริงเป็นอย่างไร, รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเสวยปลาทูแบบไหน, ข้าวซอยทำไมไม่มีข้าว, แมลงทอดก็เป็นอาหารชาววัง จริงหรือ?
รวมไปถึงการใช้สื่อทันสมัยมาประกอบการนำเสนอด้วยการให้เราหยิบจานอาหารเมนูต่างๆ ที่วางอยู่ด้านข้างห้อง มาวางบนโต๊ะที่อยู่บริเวณกลางห้อง จากนั้นก็จะมีภาพอาหารจานนั้นรวมทั้งเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโผล่ขึ้นมาบนโต๊ะนั้น จุดนี้เป็นอะไรที่ผมดูแล้วรู้สึกทึ่งกับการนำเสนอของเค้าจริงๆ ครับ
ต่อกันที่ห้องที่ 11 “ไทยดีโคตร” ห้องนี้จะสอนให้เรารู้จักกับต้นทางของความเป็นไทย ใครที่ชอบเรื่องราวของศิลปกรรมไทยอันแสนงดงามและมีเอกลักษณ์น่าจะถูกใจกับห้องนี้ครับ เพราะเค้าจะเล่าให้เราฟังเลยว่าสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่เราเห็นว่าเป็นของไทยนั้นมีต้นทางมาจากสถาปัตยกรรมอะไรบ้าง รวมไปถึงวิวัฒนาการของตัวอักษรไทย, ครุฑ, เรือสุพรรณหงส์, หัวโขน, โจงกระเบน, กระทง, เสื้อลายดอก และอื่นๆ อีกมากมาย ใครที่มีเวลาก็ค่อยๆ เปิด ค่อยๆ ดูกันไปนะครับ
ห้องที่ 12 “ไทยเชื่อ” อีกหนึ่งห้องที่ทำให้ผมแอบยิ้มเมื่อได้เห็นครั้งแรก เพราะในห้องนี้เค้าจะรวบรวมวัตถุความเชื่อของเมืองไทย จำนวน 108 สิ่ง มารวมไว้ในที่เดียว โดยทั้ง 108 สิ่งนี้จะครอบคลุมทั้งความเชื่อเรื่องผี, พุทธศาสนา, พราหมณ์ และความเชื่อแบบไทยๆ ตามที่เราเห็นในชุมชนต่างจังหวัดครับ
ใครมีเวลาก็ไล่ดูไปเรื่อยๆ นะครับ เค้ามีรายละเอียดของแต่ละรายการบอกไว้หมดเลย
ห้องที่ 13 “ไทยประเพณี” หรืออีกชื่อนึงที่ผมตั้งให้เองว่าห้องแห่งความลับ!! เพราะห้องนี้จะเต็มไปด้วยกล่องมากมาย โดยกล่องเหล่านี้จะถูกจัดวางไว้บนชั้นรอบๆ ห้อง แต่ละกล่องจะมีของที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย โดยจะแยกเป็นสีๆ ตามนี้
กล่องสีส้ม : เรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีไทย
กล่องสีเขียว : เรื่องราวเกี่ยวกับเทศกาล
กล่องสีน้ำเงิน : เรื่องราวเกี่ยวกับมารยาท
ใครที่สนใจก็ไล่ไปดูในแต่ละกล่องได้เลยครับ มันมีเยอะมากกกก โดยเค้าจะมีการติดป้ายไว้ที่ข้างกล่องอย่างชัดเจนเลยว่าเป็นกล่องของอะไร ภายในกล่องนั้นมีอะไรบ้าง
ห้องที่ 14 “ไทยแชะ” Museum Siam เลือกที่จะให้ห้องสุดท้ายของการนำเสนอเรื่องราวการถอดรหัสความเป็นไทยเป็นสตูดิโอถ่ายรูปขนาดย่อมๆ โดยภายในห้องนี้จะมีเสื้อผ้า, เครื่องประดับ, กระจก รวมทั้งพร็อพต่างๆ ให้เราถ่ายรูปมากมาย ใครที่สนใจก็เลือกชุดที่เหมาะกับตัวเองแล้วเข้าไปถ่ายรูปกับฉากที่ต้องการได้เลยครับ!!
ว่าแต่ว่าตอนที่เราถ่ายรูปนั้นก็แอบสังเกตรอบๆ ด้วยนะครับว่ามีคนอื่นๆ รอต่อคิวถ่ายรูปอยู่ด้วยหรือเปล่า เดี๋ยวถ้าเราถ่ายรูปแช่นานเกินไป มันจะไม่งามครับ ><
และตอนนี้ผมก็พาทุกคนถอดรหัสความเป็นไทยครบทั้ง 14 ห้องแล้ว แต่….แต่มันยังไม่จบครับ เพราะที่นี่ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีก 2-3 อย่าง โดยอย่างแรกที่ผมอยากจะนำเสนอเพิ่มนั่นก็คือ Muse Shop หรือร้านขายของที่ระลึกนั่นเอง ใครที่มาชม Museum Siam แล้วรู้สึกประทับใจก็อย่าลืมเข้าไปดูของที่ระลึกนะครับ เผื่อจะได้อะไรติดไม้ติดมือกลับบ้าน ผมว่าของหลายอย่างน่าสนใจดี โดยเฉพาะแทกเหล็กถอดรหัสไทยที่ปั๊มจากเครื่องครับ
อย่างที่สองที่ผมอยากจะแนะนำทุกคนเพิ่มเติมนั่นก็คือร้านกาแฟครับ!!
ใช่แล้วครับ เดินชมกันมายาวนาน ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง พอเดินเสร็จก็ต้องหาที่นั่งพักหรือของอร่อยๆ ทานใช่มั้ยครับ โดยภายใน Museum Siam จะมีร้านกาแฟอยู่ 2 ร้าน ร้านแรกชื่อว่า Muse Cafe by D’oro โดยร้านนี้จะอยู่ที่ชั้น 1 ของอาคารเลยครับ เดินทะลุห้องตรงกลางไปแล้วเดี๋ยวก็จะเห็นร้านนี้เอง
ส่วนร้านที่สองจะมีชื่อว่า เอลเลฟิน ค็อฟฟี่ ร้านนี้จะอยู่ภายนอกอาคารหลักครับ จะเป็นร้านเล็กๆ ใกล้กับสนามหญ้าด้านหลัง ใครถูกชะตากับร้านไหนก็เข้าไปใช้บริการได้เลยครับ
และเมื่อมาถึงตรงนี้ ก็ถึงเวลาที่ผมต้องเอ่ยปากบอกทุกคนแล้วครับว่าการเดินทางพาทุกคนไปรู้จักกับ Museum Siam เพื่อถอดรหัสความเป็นไทย ค้นหาแก่นแท้ความเป็นตัวเราก็ได้จบลงแล้วครับ ซึ่งผมอยากจะบอกทุกคนเหลือเกินว่าภาพทุกภาพและตัวอักษรทุกตัวอักษรในบทความนี้ ไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของการไปสัมผัสที่นี่ด้วยตัวเองเลยครับ เพราะรายละเอียดที่เค้าจัดทำมานั้นมีเยอะมาก และหลายๆ เรื่อง หลายๆ การนำเสนอนั้นก็เหมาะกับการไปเรียนรู้ ไปสัมผัสด้วยตัวเองมากกว่าการดูผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ครับ โดยบทความนี้เป็นเพียงแค่ไกด์ไลน์เท่านั้นว่าคุณจะเดินทางไปที่นี่ได้อย่างไร และไปถึงแล้วจะเจออะไรบ้างแบบคร่าวๆ แต่การสัมผัสและเรียนรู้เชิงลึกนั้น คุณจะต้องออกไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยใครที่สนใจอยากจะไปที่นี่นั้นผมแนะนำว่าควรจะมีเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงครับ และสำหรับใครที่ชอบการถ่ายรูปหรือเน้นการอ่านทุกตัวอักษรควรจะมีเวลาไปชมไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงครับ
และอย่าลืมนะครับว่าทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ Museum Siam (มิวเซียมสยาม) จะเปิดให้เข้าชมฟรี รวมไปถึงหลังเวลา 16.00 น. ของทุกวันที่เค้าเปิดให้บริการก็จะเป็นการเปิดให้ทุกคนเข้าชมฟรีเช่นเดียวกัน ใครที่อยากจะประหยัดค่าใช้จ่ายก็สามารถเลือกไปในช่วงเวลาดังกล่าวได้ครับ
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านจนจบ แล้วมาดูกันต่อว่า The Hidden Gems ที่ผมจะพาทุกคนไปรู้จักที่ต่อไปนั้นคือที่ไหน มีอะไรคุณไม่เคยเห็นมาก่อน หรือทำให้คุณรู้สึกทึ่ง จนเกิดความสนใจอยากจะออกไปเห็นด้วยตาของตัวเองบ้าง ก็สามารถติดตามเรื่องราวของสถานที่เหล่านี้อย่างใกล้ชิดได้ที่แฟนเพจ “ภรรยาหา สามีใช้” ได้เลยครับ ส่วนใครที่อ่านเรื่องราวของ Museum Siam จบแล้ว แต่ยังมีอะไรสงสัยอยู่ก็สามารถตามไปดูข้อมูลหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางด้านล่างนี้ได้เลย แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ
Fanpage : Museum Siam
โทร : 02-2252777
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผมในวันที่ไปใช้บริการเท่านั้นครับ แต่ละท่านที่ได้มีโอกาสไปใช้บริการอาจจะได้รับการบริการที่แตกต่างจากนี้