จากที่ก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสใช้งาน True Travel Sim Asia และรู้สึกประทับใจเจ้าซิมนี้มากมายตามที่ได้เคยเขียนไว้ในรีวิวนี้ TRUE TRAVEL SIM ASIA : ซิมดีๆ คู่ใจนักเดินทางผู้ชอบท่องเอเชีย” แต่ปรากฏว่าในช่วงเดือนธันวาคม 2560 นั้น ทาง True Travel Sim Asia ได้ทำการปรับแพคเกจใหม่โดยเปลี่ยนให้การใช้งานซิมนี้ในประเทศญี่ปุ่นจากเดิมที่อยู่ในกลุ่มเอเชีย (Asia) กลายเป็นอยู่ในกลุ่มโลก (World) ซึ่งมีราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิมและมีระยะเวลาในการใช้งานเพิ่มมากขึ้นแทน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มันไม่ตอบสนองกับการใช้งานของผมเวลาไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นเลย ดังนั้นในทริปญี่ปุ่นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ผมก็เลยหาซิมใหม่ไปใช้งานแทน True Travel Sim Asia และหวยก็ได้ไปออกที่ AIS SIM2Fly ครับ

โดยถ้าจะให้พูดง่ายๆ ภาพรวมทั่วไปของ AIS SIM2Fly กับ True Travel Sim Asia นั้นก็แทบจะไม่ต่างกันเลยครับ ตั้งแต่ราคา, ปริมาณอินเตอร์เนต, วิธีการเปิดใช้งาน และการเติมเงิน โดยสิ่งที่จะต่างกันแบบที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ประเทศที่สามารถใช้งานได้ และเครือข่ายของผู้ให้บริการในประเทศนั้นๆ เท่านั้นเอง ซึ่งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 นั้น ทาง AIS SIM2Fly ก็ได้มีการแบ่งการใช้งานออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้

ประเภทที่ 1 : เอเชีย และ ออสเตรเลีย ราคา 399 บาท (ใช้งานได้ 8 วัน)

ประเภทที่ 2 : ยุโรป อเมริกาและอื่นๆ ราคา 899 บาท (ใช้งานได้ 15 วัน)

หมายเหตุ : เราสามารถซื้อ AIS SIM2Fly ได้ที่ Family Mart บางสาขา, AIS Online Store, AIS Shop ทุกสาขา รวมถึงสาขาในสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิครับ ส่วนปัจจุบันนี้ (มีนาคม 2562) ซิม True Travel Sim Asia ก็สามารถกลับมาใช้งานที่ญี่ปุ่นได้ตามเดิมแล้วครับ

Disclosure : บทความนี้เป็นบทความที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้บริการใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ราคาตามภาพด้านบนจะเป็นราคาสำหรับการซื้อ AIS SIM2Fly ครั้งแรกเท่านั้น โดยหลังจากที่เราเปิดใช้งานไปแล้ว หากเราต้องการใช้งานซิมดังกล่าวต่อในอนาคตก็สามารถเติมเงินเพิ่มเติมได้ตามราคาที่แสดงในตารางด้านล่างนี้ได้เลยครับ

สำหรับประเทศที่ AIS SIM2Fly แบบเอเชียและออสเตรเลียสามารถใช้งานได้นั้นจะมีทั้งหมด 18 ประเทศตามรายชื่อดังนี้ครับ

  1. ญี่ปุ่น

  2. เกาหลีใต้

  3. สิงค์โปร์

  4. มาเลเซีย

  5. ฮ่องกง

  6. ลาว

  7. อินเดีย

  8. ไต้หวัน

  9. มาเก๊า

  10. ฟิลิปปินส์

  11. กัมพูชา

  12. พม่า

  13. ออสเตรเลีย

  14. เนปาล

  15. อินโดนีเซีย

  16. กาตาร์

  17. ศรีลังกา

  18. จีน (รวมธิเบต)

Update รายชื่อประเทศที่ AIS SIM2Fly สามารถใช้งานได้ ณ วันที่ 22 ต.ค. 61 โดยทุกท่านสามารถเช็คข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ais.co.th/roaming/sim2fly/ ทั้งนี้การใช้งาน AIS SIM2Fly ในประเทศอินเดียนั้น จะไม่รองรับการใช้งานในรัฐอัสสัม, อรุณาจัลประเทศ, มณีปุระ, เมฆาลัย, มิโซรัม, นาคาแลนด์, ตริปุระ, จัมมู และแคชเมียร์ครับ

ส่วนนี่เป็นหน้าตาของ AIS SIM2Fly ที่ผมไปซื้อมาจาก AIS Shop ในช่วงเดือนมกราคม 2561 ซึ่งผมแนะนำว่าตอนที่เราไปซื้อนั้น เราควรให้ทางเจ้าหน้าที่เค้าลงทะเบียนซิมอะไรให้เรียบร้อยเลย พอถึงเวลาที่เราหยิบไปใช้งานที่ต่างประเทศก็จะทำให้เราสามารถใช้งานได้เลย ไม่ต้องยุ่งยากไปทำอะไรเพิ่มเติมอีกครับ

และเพื่อให้เข้าใจภาพการใช้งานชัดๆ ผมขอสรุปเป็นขั้นตอนให้ทุกคนที่ไปซื้อ AIS SIM2Fly เข้าใจดังนี้ครับ

  1. ซื้อ AIS SIM2Fly ตามจุดบริการที่มีการจำหน่าย

  2. ลงทะเบียนผู้ใช้งาน ซึ่งหากใครซื้อผ่าน AIS Shop อยู่แล้วทางเจ้าหน้าที่เค้าจะทำให้เลย แต่หากใครที่ซื้อผ่านช่องทางอื่นๆ ต้องอย่าลืมไปจัดการให้เรียบร้อยด้วยนะครับ

  3. เดินทางไปที่ต่างประเทศที่รองรับการใช้งาน AIS SIM2Fly จากนั้นก็เปลี่ยนเอา AIS SIM2Fly ใส่เข้าไปในโทรศัพท์แทนซิมเดิม

  4. เปิดโทรศัพท์มือถือและเปิด Data Roaming จากนั้นรอซักพักเพื่อให้โทรศัพท์เราจับสัญญาณผู้ให้บริการที่เป็นพันธมิตรกับ AIS ในประเทศนั้น

  5. จะมี SMS เข้ามาที่โทรศัพท์เรา ทั้งการแจ้งว่าขณะนี้ได้เปิดการใช้งาน AIS SIM2Fly แล้ว สามารถใช้งานได้กี่วัน ตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน โดยระบบจะเริ่มนับวันและเวลาครั้งแรกตอนที่เราจับสัญญาณมือถือที่ต่างประเทศ และจะทำการนับเวลาการใช้งาน 8 วัน แบบ 24 ชั่วโมงเต็มครับ

  6. ใช้งาน AIS SIM2Fly ในประเทศนั้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งครบแพคเกจหรือเรากลับไทย ซึ่งหากใครต้องการใช้ซิมนี้ต่อ ก็ให้เติมเงินผ่านช่องทางต่างๆ ของ AIS และเปิดแพคเกจใช้งานต่อไปตามหมายเลขในภาพด้านบน

สำหรับขั้นตอนต่างๆ ในการเปิดใช้งานซิมครั้งแรกนั้น โดยส่วนตัวผมว่าง่ายและสะดวกมากๆ นะครับ หากจะมีอะไรผิดพลาดใช้งานไม่ได้ ก็คงแค่ขั้นตอนที่ 4 ที่หลายๆ คนอาจจะลืมเปิด Data Roaming เท่านั้น โดยหลังจากที่เราเปิด Data Roaming เปิดปิดโทรศัพท์ใหม่ก็จะสามารถใช้งานได้ครับ

สำหรับการเปิดใช้งานครั้งแรกนั้น หากเรานำ AIS SIM2Fly มาใส่โทรศัพท์เรา ในขณะที่เรายังอยู่ในประเทศไทย ระบบจะยังไม่นับเวลาการใช้งานนะครับ รวมทั้งเราจะไม่สามารถใช้เล่นเนทหรือโทรศัพท์ในประเทศไทยได้เลย ส่วนใครที่ไปถึงต่างประเทศแล้วและมีความจำเป็นต้องใช้ AIS SIM2Fly ในการโทรศัพท์ ก็จะมีค่าใช้จ่ายตามนี้ครับ

เอาล่ะ รู้ข้อมูลเบื้องต้นกันไปเยอะแล้ว คราวนี้เราไปดูดีกว่าว่าถ้าเราซื้อ AIS SIM2Fly มาใช้งานนั้น เราจะได้อะไรบ้าง โดยในแพคเกจที่ผมซื้อมาเมื่อเดือนมกราคม 2561 จะมีของให้ตามนี้ครับ

  1. ซิมโทรศัพท์มือถือ แบบ 3 in 1 คือ มีให้เลือกใช้ 3 ขนาด ตามแต่ลักษณะช่องของโทรศัพท์มือถือแต่ละเครื่องเลย

  2. เข็มจิ้มถาดซิม อันนี้ดีมาก ได้คะแนนจากผมไปเต็มๆ เพราะต่อให้เราซื้อซิมนี้ที่สนามบิน เราก็จะสามารถเปลี่ยนซิมใช้ได้เลย ไม่ต้องปวดหัวไปหาอะไรมาแหย่ถาดใส่ซิมเองครับ

  3. คู่มือ

ส่วนนี่เป็นความรู้สึกส่วนตัวของผมหลังจากที่ได้มีโอกาสนำ AIS SIM2Fly ไปใช้งานในประเทศญี่ปุ่น 8 วัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยหลักๆ ผมใช้งานซิมนี้ในโตเกียวกับฟุกุชิมะ และผลการใ้ชงานโดยรวมนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเลยครับ

โตเกียว (Tokyo) : เครือข่าย SoftBank

สามารถใช้งานได้ดีทั้งในตึกขนาดสูง หรือขณะที่นั่งรถไฟฟ้า การใช้งานไหลลื่น ไม่มีสะดุด ส่วนความเร็วที่ได้อยู่ในขั้นที่รับได้ ไม่ได้รอการโหลดนานจนทำให้หงุดหงิดครับ

ฟุกุชิมะ (Fukushima) : เครือข่าย SoftBank

ด้วยความที่เป็นต่างจังหวัด และหลายๆ ที่ที่ผมไปนั้นเป็นเขตธรรมชาติที่ห่างจากตัวเมืองมาก รวมไปถึงเส้นทางการเดินทางนั้นต้องนั่งรถไฟผ่านป่า ภูเขา และถ้ำ ดังนั้นในเรื่องของสัญญาณก็เลยมีขาดหายไปบ้างบางช่วง แต่ก็เป็นการขาดหายไปแค่แป๊บเดียวเท่านั้น ส่วนในเรื่องการใช้งาน ความลื่นไหล และความเร็ว โดยภาพรวมก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้จะมีโหลดช้า รอประมวลผลนิดหน่อยแต่ก็เป็นเวลาที่ไม่นาน หลังจากที่รีเฟรชหรือรอประมาณ 30 วินาทีก็สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติครับ

โดยทั้งหมดนี้ผมได้ทดลองใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น Facebook, Line, Google Map, Youtube, Hyperdia แล้วก็ Web browser ซึ่งก็ถือว่า AIS SIM2Fly เป็นอีกซิมนึงที่สะดวก คุ้มค่า เหมาะกับการใช้งานในประเทศญี่ปุ่นซิมนึงเลย รวมทั้งเมื่อเรากลับมาที่ประเทศไทยแล้ว เรายังสามารถที่จะนำซิมนี้มาใช้ต่อในประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ได้อีก 17 ประเทศเลยครับ โดยการเติมเงิน 10 บาทจะสามารถยืดอายุการใช้งานซิมได้ 30 วัน และเงินที่เติมไปนั้นจะสามารถนำไปใช้ในการสมัครแพคเกจได้ด้วย ซึ่งจากทั้งหมดนี้ก็ต้องถือว่า AIS SIM2Fly เป็นอีกหนึ่งซิมมือถือที่นักเดินทางควรต้องมีติดบ้านไว้เลยครับ สะดวก ใช้งานง่าย และใช้ได้หลายประเทศ โดยเฉพาะคนที่ชอบไปญี่ปุ่นกับออสเตรเลียน่าจะถูกใจกับซิมนี้มากๆ ครับ

ก็จบลงแล้วสำหรับรีวิวในครั้งนี้ หากท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้งานซิม AIS SIM2Fly ก็สามารถอ่านรายละเอียดด้านล่างนี้เพิ่มเติมได้เลยครับ หรือไม่ก็สามารถเข้าไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ais.co.th/roaming/sim2fly/  และ SIM2Fly_wholesale@ais.co.th ส่วนท่านใดที่ต้องการติดตามเรื่องราวของการกินและเที่ยวของผมกับต๋งแบบใกล้ชิดก็สามารถเข้าไปกดติดตามได้ที่แฟนเพจ “ภรรยาหา สามีใช้” ได้เลยครับ แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ


ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจของ AIS SIM2Fly

  • เราสามารถเติมเงิน, สมัครแพคเกจเสริม, เพิ่มเน็ตเพิ่มวันได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวล เพราะหากแพคเกจเสริมที่ซื้อไว้ไม่มีการใช้งานที่ต่างประเทศ เมื่อแพคเกจหมดอายุ ระบบจะคืนเงินเข้าหมายเลข SIM2Fly ให้ครับ

  • หากคุณสมัครแพคเกจเสริมไว้ ระบบจะทำการต่อการใช้งานให้โดยอัตโนมัติเมื่อเน็ตที่ความเร็วเต็มสปีดหรือจำนวนวันของแพคเกจก่อนหน้าสิ้นสุดลง ทำให้เราสามารถใช้งานได้โดยไม่สะดุด

  • หมดกังวลเรื่องเน็ตรั่วได้ เพราะ AIS SIM2Fly จะปิดการใช้งานอินเทอร์เน็ตอัตโนมัติเมื่อท่านไม่ได้สมัครแพคเกจอินเทอร์เน็ตหรือเมื่อแพคเกจของท่านหมดอายุ

  • สามารถตรวจสอบปริมาณอินเทอร์เน็ตคงเหลือที่ความเร็วสูงสุดได้โดยกด *111*6# แล้วกดโทรออก

  • เติมเงินให้เพียงพอกับการใช้งานโรมมิ่งตามระยะเวลาที่เราต้องการใช้งาน ทั้งการโทร และสมัครแพคเกจอินเทอร์เน็ต

  • เพื่อไม่ให้พลาดการติดต่อ อย่าลืมพกบัตรเติมเงินให้เพียงพอต่อการใช้งาน หรือสามารถเติมเงินด้วยบัตรเครดิตขณะอยู่ต่างประเทศ ผ่านทาง ais.co.th/sim2fly

  • เมื่อเราอยู่ที่ต่างประเทศ เราสามารถติดต่อ AIS Call Center ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยการกดหมายเลข +66 2 2719000 ครับ (ไม่คิดค่าบริการ)

  • ลูกค้าที่ซื้อ AIS SIM2Fly ต้องทำการลงทะเบียนแสดงตนก่อนเปิดใช้งานซิมครั้งแรก และก่อนนำไปใช้งานที่ต่างประเทศ โดยสามารถลงทะเบียนซิมได้ที่ AIS Shop, ร้าน Telewiz, AIS Shop สนามบินสุวรรณภูมิ ชั้น 2, บูธ International Roaming สนามบินสุวรรณภูมิ ชั้น 4 และ AIS Shop สนามบินดอนเมือง ชั้น 1 (บริเวณทางเชื่อมอาคาร 1 และอาคาร 2) ส่วนเอกสารที่ใช้แสดงตนคือ บัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์ AIS SIM2Fly ที่ต้องการลงทะเบียน

  • ท่านสามารถรับสายเรียกเข้าที่มายังเบอร์มือถือที่ใช้เป็นประจำบนเบอร์ SIM2Fly เพียงแค่ตั้งค่าโอนสาย (Call Divert) แบบโอนทุกสาย (All Call) มายังเบอร์ SIM2Fly ขณะอยู่ที่ต่างประเทศ

  • ในกรณีที่เงินเหลือ สามารถนำกลับมาใช้ต่อที่ไทยได้

  • กรณีใช้ AIS SIM2Fly บน iPhone และได้รับ SMS เป็นจำนวนมาก ให้ปิด facetime บน iPhone โดยเข้าไปตั้งค่าได้ที่ Setting > FaceTime > ตั้งค่าเป็น off

  • กรณีลูกค้าต้องการใช้ facetime ให้เติมเงินให้เพียงพอกับค่าบริการ SMS roaming สำหรับเปิดใช้งาน facetime (ประมาณ 9 บาท/นาที ไม่รวม VAT)

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผมในวันที่ไปใช้บริการเท่านั้นครับ แต่ละท่านที่ได้มีโอกาสไปใช้บริการอาจจะได้รับการบริการที่แตกต่างจากนี้ออกไป