Home Travel ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย : เรียนรู้ เข้าใจ และเห็นคุณค่าของคำว่าเงินตรา

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย : เรียนรู้ เข้าใจ และเห็นคุณค่าของคำว่าเงินตรา

สวัสดีครับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ผมได้พาทุกคนไปรู้จักกับหนึ่งใน The Hidden Gems Thailand อย่าง “วังบางขุนพรหม” มาแล้ว วันนี้ผมก็จะพาทุกคนไปรู้จักกับอีกหนึ่งสถานที่ดีๆ ที่อยู่ภายในพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ ถ.สามเสน เช่นเดียวกันครับ โดยสถานที่นี้มีชื่อว่า “ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย” นั่นเอง

สำหรับที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นจะอยู่ตรงข้ามกับวังบางขุนพรหมเลย เดินข้ามถนนปุ๊บก็ถึงทันทีครับ เรียกว่าใครที่ได้โอกาสไปแถวนั้นก็ควรจะเผื่อเวลาไปซัก 4-5 ชั่วโมง เพื่อที่จะได้เที่ยวทั้งสองสถานที่ไปพร้อมๆ กันในวันเดียวเลย

หมายเหตุ : วังบางขุนพหรมนั้นจะเปิดให้เข้าชมฟรีเฉพาะวันเสาร์ โดยเปิดบริการวันละ 4 รอบ จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2561 หลังจากนั้นจะปิดบูรณะยาว และเราต้องติดตามข่าวสารจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยต่อว่าจะเปิดให้เข้าชมอีกครั้งเมื่อไหร่ครับ

Disclosure : บทความนี้เป็นบทความที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้บริการใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับใครที่เดินทางไปธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ ไม่ถูก ก็สามารถดูแผนที่ตามด้านล่างนี้ได้เลยนะครับ เดินทางไม่ยากมีรถเมล์ผ่านหลายสาย หรือจะนั่ง Taxi ก็ได้ สะดวกสบายดี ส่วนใครที่มีรถส่วนตัวก็ตาม Google Map ไปได้เลย พิกัดแม่น รถไม่ค่อยติด และมีที่จอดรถเยอะครับ

นี่เป็นหน้าตาของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยครับ โดยตึกนี้จะอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและสะพานพระราม 8 เลย ทำเลและบรรยากาศดีมาก ส่วนที่จอดรถภายในตึกก็เยอะ ใครที่ขับรถส่วนตัวมาสามารถจอดรถได้ฟรี 4 ชั่วโมง โดยต้องทำการประทับตราที่บริเวณหน้าห้องสมุดซึ่งอยู่ที่ชั้น 2 ของอาคาร หากใครจอดเกิน 4 ชั่วโมง จะมีค่าใช้จ่ายชั่วโมงละ 20 บาทครับ

หมายเหตุ : ภายในศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกอบไปด้วย พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย, ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย, หอจดหมายเหตุ และพื้นที่นันทนาการครับ

หลังจากที่เราจอดรถหรือมาถึงที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เราไปที่ชั้น 2 ของอาคารเลยครับ โดยที่นี่เค้าจะมีวันเวลาในการเปิดทำการดังนี้

วันที่เปิดทำการ : วันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์)

เวลาเปิดทำการ : 9.30 น. – 20.00 น. (สำหรับในส่วนของพิพิธภัณฑ์จะปิดตอน 16.00 น.)

ค่าเข้าชม : ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ที่จอดรถ : กรณีประทับตรา สามารถจอดได้ฟรี 4 ชั่วโมง

โดยก่อนที่เราจะเข้าไปภายในศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น เราจะต้องให้เจ้าหน้าที่ทำการสแกนกระเป๋าของเราทุกใบก่อนนะครับ รวมทั้งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เค้าระบุไว้ด้วย

เมื่อเราเข้ามาภายในศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว เราจะพบว่าบริเวณที่เราเข้ามานั้นจะเป็นโถงที่ค่อนข้างกว้าง และประกอบไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างทั้งห้องสมุด, ป้ายบอกข้อมูล และทางเข้าชมพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นพระเอกของเราในวันนี้ครับ

นี่เป็นป้ายบอกข้อมูลของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยและวังบางขุนพรหมครับ เค้าจะมีบอกเลยว่าแต่ละที่จะเปิดให้เข้าชมวันเวลาไหนบ้าง โดยหากใครที่ต้องการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ภายในศูนย์การเรียนรู้นั้นสามารถที่จะเข้าชมได้ตั้งแต่วันอังคารจนถึงวันอาทิตย์ โดยจะมีการแบ่งรอบเข้าชมออกเป็นทั้งหมด 5 รอบ ได้แก่รอบ 10.00 น., 11.00 น., 11.30 น., 13.30 น. และ 14.00 น.  (จำกัดรอบละ 40 คน) ทั้งนี้หากใครที่ต้องการเข้าชมด้วยตัวเองโดยไม่มีเจ้าหน้าที่นำชมก็สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 14.30 น. จนถึงเวลา 16.00 น. ครับ

หมายเหตุ : ในการเดินชมด้วยตัวเองนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์การเรียนรู้ฯ คอยให้ข้อมูลเป็นจุดๆ แต่จะไม่ได้เดินไปกับเราตลอดเวลา รวมทั้งในบางจังหวะหากมีคนเข้าไปพร้อมกันหลายกลุ่ม ทางเจ้าหน้าที่อาจจะไม่สามารถดูแลเราได้ทั่วถึงครับ โดยเราสามารถ Download “BOT Museum Application” ลงในมือถือของเราก่อนที่จะเข้าไปชมก็ได้ เพื่อที่เราจะได้ข้อมูลที่น่าสนใจมากขึ้นในระหว่างการรับชมด้วยตัวเองครับ

ส่วนนี่เป็นห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยครับ ใครที่สนใจอยากนั่งอ่านหนังสือการเงินและเศรษฐกิจดีๆ ในบรรยากาศสวยๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็สามารถมาใช้บริการที่นี่ได้เลย ไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้บริการและเปิดจนถึง 20.00 น. เลยครับ

เอาล่ะ รู้จักข้อมูลคร่าวๆ ของศูนย์การเรียนรู้ฯ ไปแล้ว คราวนี้ได้เวลาที่เราจะเข้าไปเดินชมในส่วนของพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยกันแล้วครับ โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะประกอบไปด้วยทั้งหมด 4 ชั้น โดยเราจะต้องเดินเรียงตามลำดับดังต่อไปนี้ครับ

ชั้น 2 (ทางเข้าศูนย์) : นิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร และเรื่องเล่าธนาคารแห่งประเทศไทย

ชั้น B2 : ประวัติของเงินตรา และการแลกเปลี่ยน โดยจะเน้นที่เรื่องของเหรียญเป็นหลัก

ชั้น B1 : ประวัติของเงินตรา โดยจะเน้นที่เรื่องธนบัตรไทยเป็นหลัก

ชั้น 1 : นิทรรศการบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยใครที่มีสัมภาระติดตัวมาเยอะ และคิดว่าไม่สะดวกกับการถือเดินเข้าไปชมด้วย ก็สามารถติดต่อขอกุญแจล็อคเกอร์กับทางเจ้าหน้าที่ได้นะครับ เค้ามีให้เราใช้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่สำคัญมีปริมาณของตู้เยอะมาก และมีทั้งตู้ใหญ่ตู้เล็กให้เราเลือกเลย

ใครที่ฝากกระเป๋าเรียบร้อยแล้วก็เดินเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์พร้อมกับผมได้เลยครับ โดยห้องแรกที่พวกเราจะได้เห็นหลังจากก้าวผ่านประตูเข้าไปก็คือห้องนิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร ซึ่งจะมีเครื่องพิมพ์ธนบัตรเครื่องจริงพร้อมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ให้เราดูด้วยกันหลายอย่างเลย เพราะเดิมที ณ จุดที่ห้องนิทรรศการแห่งนี้แสดงอยู่นั้นเคยเป็นสถานที่พิมพ์ธนบัตรไทยที่เราใช้กันครับ โดยโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งนี้มีชื่อในอดีตว่า “โรงพิมพ์ธนบัตร บางขุนพรหม” มีเนื้อที่ทั้งหมด 11 ไร่ 35 ตารางวา เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2506 และสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2512 จากนั้นก็เริ่มพิมพ์ธนบัตรใช้ในประเทศไทยเรื่อยมา เพียงแต่ว่าธนบัตรรุ่นแรกๆ ที่ออกมานั้นจะเป็นการร่วมมือกับต่างประเทศโดยมีการแบ่งหน้าที่ในการรับพิมพ์ชอบการผลิตในส่วนต่างๆ จนกระทั่งต่อมาทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็สามารถผลิตทุกขั้นตอนได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องให้ต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือครับ

นี่แหละครับคือหน้าตาของเครื่องพิมพ์ธนบัตรที่เราเคยใช้พิมพ์ธนบัตรในอดีต ซึ่งถ้าใครสังเกตดีๆ จะเห็นว่าด้านหลังของเครื่องพิมพ์นั้นก็คือแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเองครับ

และเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ประเทศไทยก็เริ่มมีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น มีปริมาณการใช้เงินหมุนเวียนภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โรงพิมพ์ธนบัตรเองก็ต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มตาม แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านสถานที่ ตลอดจนความเสี่ยงเนื่องจากสภาพแวดล้อม และความปลอดภัยในการทำงานที่ไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ 100% ได้ หากโรงพิมพ์ยังตั้งอยู่ที่เดิม ดังนั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ก่อสร้างโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งใหม่บนเนื้อที่กว่า 151 ไร่ ณ ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม หรือบริเวณพุทธมณฑล สาย 7 เมื่อปี พ.ศ. 2547 และเปิดการใช้งานจริงในปี พ.ศ. 2550 และนั่นก็คือการปิดฉากโรงพิมพ์ธนบัตร บางขุนพรหมที่อยู่เคียงข้างแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ครับ

หลังจากที่เราได้เห็นเครื่องพิมพ์ธนบัตรจริงๆ แล้ว คราวนี้ห้องถัดไปที่เราจะได้เจอก็คือ “ห้องมั่นคง” ห้องที่มีผนังหนา 1 เมตร มีประตูเหล็กกล้าหนา 0.45 เมตร ป้องกันการสะเทือนและการขุดเจาะในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งต้องใช้กุญแจ 3 ดอก จากคนถือ 3 คนถึงจะมีสิทธิ์เข้าไปภายในห้องนี้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าห้องที่มีความปลอดภัยสูงแบบนี้ก็คงใช้เก็บอะไรไปไม่ได้นอกจากธนบัตรที่พิมพ์เสร็จแล้วนั่นเองครับ

ห้องมั่นคงของโรงพิมพ์ธนบัตร บางขุนพรหม หรือโรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทยเดิมนั้น จะมีทั้งหมด 3 ห้อง แบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นละ 1 ห้อง ภายในห้องจะมีธนบัตรที่พิมพ์เสร็จแล้วทั้งแบบที่ยังเป็นกระดาษแผ่นใหญ่ ยังไม่ได้ตัด, แบบที่ตัดเป็นธนบัตรพร้อมใช้ รวมไปถึงกระดาษชนิดพิเศษสำหรับการพิมพ์ธนบัตรโดยเฉพาะ โดยการจะเปิดเข้าไปหยิบของภายในห้องนี้ได้นั้นจะต้องมีระเบียบขั้นตอนและมีการรักษาความปลอดภัยสูงมาก มากจนมีเพียงแค่ไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ว่าจะเปิดเข้าไปวันไหน ตอนไหน และเข้าไปเอาอะไรออกมาบ้าง

ภาพที่เห็นด้านล่างนี้คือภาพของตู้นิรภัยที่เอาไว้บรรจุธนบัตรเวลาที่ต้องเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนครับ บอกเลยว่าเค้ารักษาความปลอดภัยกันเข้มงวดมาก ไม่ใช่ใครจะเดินเข้ามาแล้วแอบหยิบไปใช้ใบสองใบได้อย่างไม่มีใครรู้นะครับ ธนบัตรแต่ละใบจะมีการเก็บรักษาและตรวจสอบเป็นอย่างดี หากใบไหน หรือหมายเลขหมวดใดมีการชำรุดก็จะทำการทำลายทิ้ง เพื่อไม่ให้ใครสามารถเอาไปทำอะไรต่อได้เลย

หลังจากที่เราเดินชมห้องมั่นคงเสร็จ คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องไปที่ชั้น B2 กันแล้ว โดยใครจะเดินลงบันไดไปก็ได้ครับ แต่ถ้าใครขี้เกียจผมแนะนำให้ใช้ลิฟท์จะดีกว่า เพราะเดินลง 3 ชั้นก็แอบเมื่อยนิดๆ เหมือนกัน ><

เมื่อเรามาถึงที่ชั้น B2 เราก็จะพบว่าที่ชั้นนี้มีการเล่าเรื่องตั้งแต่ในสมัยอดีตเมื่อหลายพันปีก่อน ตั้งแต่สมัยที่โลกของเรายังไม่มีเงินตรา ไม่มีเหรียญ ไม่มีธนบัตร และต้องใช้การแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกันและกัน โดยทางพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้การนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ผ่านทางป้ายข้อมูล และผนังมัลติมีเดียที่ผมว่ามันเจ๋งมาก โดยผนังนี้จะมีมิติของความสูงต่ำ รวมไปถึงแสงสีที่ทำให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวที่เค้ากำลังเล่าได้เป็นอย่างดี และนี่ถือเป็นหนึ่งในการนำเสนอของที่นี่ที่ผมประทับใจเลยครับ

และแน่นอนว่าเมื่อใช้การแลกเปลี่ยนสิ่งของไปมาระหว่างกัน ก็ย่อมต้องเกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งความต้องการไม่ตรงกัน คนนึงอยากได้ของคนนี้ แต่อีกคนไม่อยากได้, ปัญหาเรื่องของของเน่าเสีย, ปัญหาเรื่องปริมาณของการแลกเปลี่ยน ดังนั้นมนุษย์ก็เลยคิดค้นระบบเงินตราขึ้นมา โดยการเริ่มเอาสิ่งของที่มีค่าและหายากในธรรมชาติ เช่น หอย มาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และเกิดการพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นเหรียญที่ทำจากโลหะต่างๆ จนไปถึงธนบัตรที่เราใช้อยู่ในทุกวันนี้ครับ

ผมบอกเลยครับว่าเรื่องราวในห้องนี้เป็นอะไรที่สนุก และมีอะไรให้เราศึกษาเยอะมาก ตั้งแต่ประวัติการเกิดเหรียญครั้งแรกของโลก ที่ชื่อว่าเหรียญลิเดีย เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อน จนมาถึงเหรียญประเภทต่างๆ ในพื้นที่ของประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่าสุวรรณภูมิในสมัยนั้น โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้มีการนำเอาเหรียญตั้งแต่สมัยทวารวดี, ศรีวิชัย ไล่มาเรื่อยๆ จนถึงสุโขทัย, อยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์มาให้เราดู พร้อมกับรายละเอียดต่างๆ ที่น่าสนใจ บอกเลยว่าใครที่ชอบเรื่องราวเหล่านี้สามารถอยู่ที่ชั้นนี้ได้เป็นชั่วโมงเลย

หมายเหตุ : ปัจจุบันนี้พื้นที่ของอาณาจักรลิเดียอยู่ในภาคตะวันตกของประเทศตุรกีครับ

โดยเหรียญและธนบัตรที่อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นของจริงทั้งหมดเลย ยกเว้นถ้าชิ้นไหนเป็นของจำลองทางพิพิธภัณฑ์ก็จะมีการเขียนระบุไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ด้วยความที่รายละเอียดในห้องนี้มันเยอะมาก ดังนั้นผมก็เลยจะขอยกตัวอย่างเหรียญที่ผมว่าน่าสนใจมากๆ 3-4 เหรียญมาให้ทุกคนดูเป็นน้ำจิ้มนะครับ ใครที่สนใจดูเหรียญแบบอื่นๆ หรือต้องการรายละเอียดเชิงลึกก็ค่อยหาโอกาสไปดูด้วยตัวเองอีกที โดยเหรียญแรกที่ผมจะขอนำเสนอนั้นมีชื่อว่า “เหรียญเงินเจียง” เหรียญหรือเงินที่สามารถแบ่งออกเป็นสองซีกได้ โดยหากใครอยากใช้แค่ครึ่งเดียวก็ให้หักออกไปใช้ครับ

เหรียญหรือเงินถัดมาคือ “เงินไซซี หรือ เงินสำเภา” เงินจากประเทศจีนที่มีมูลค่าสูงมาก ทำจากมาจากเงินและมีขนาดกับรูปร่างที่แตกต่างกันออกไปตามแต่คนที่ผลิต โดยมูลค่าของเงินนั้นขึ้นอยู่กับน้ำหนักและความบริสุทธิ์ของเงินที่เอามาทำ ในการใช้งานนั้นจะมีการใช้งานทั้งเป็นก้อนเลยหรือตัดแบ่งใช้ด้วยการชั่งน้ำหนักก็ได้ครับ โดยเงินชนิดนี้พ่อค้าชาวจีนได้นำเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยสุโขทัยครับ

“เงินพดด้วง” เงินตราของประเทศไทยในสมัยโบราณ และเป็นเงินตราที่ใช้แลกเปลี่ยนหมุนเวียนในประเทศไทยเป็นเวลานานกว่า 600 ปี ตั้งแต่สมัยสุโขทัย, อยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเดิมเงินชนิดนี้มีชื่อว่า “เงินขดด้วง” เพราะมีรูปร่างและสีคล้ายกับตัวอ่อนของด้วง แต่ต่อมาได้มีการเพี้ยนคำไปเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นคำว่าเงินพดด้วง

เงินชนิดนี้ทำจากแท่งเงินบริสุทธิ์ตามน้ำหนักพิกัดของราคา จากนั้นก็ทำการทุบปลายทั้งสองข้างให้งอเข้าหากัน โดยในสมัยสุโขทัยนั้นยังไม่ได้มีการผูกขาดการผลิต จึงทำให้เงินพดด้วงมีความหลากหลายมากทั้งประเภทของเนื้อเงินที่ใช้ทำ, น้ำหนักและขนาด ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงได้มีการห้ามราษฎรผลิตเงินขึ้นมาใช้เอง เงินพดด้วงจึงได้เริ่มมีมาตรฐาน และมีการประทับตราต่างๆ ลงไป โดยเฉพาะ 2 ตราที่สำคัญอย่าง ตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล ซึ่งเงินพดด้วงนี้ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเรื่อยๆ และถูกใช้หมุนเวียนอยู่ในประเทศไทยจนถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ที่ประเทศไทยมีการค้าที่เฟื่องฟูมาก จนทำให้การผลิตเงินพดด้วงด้วยแรงงานคนไม่สามารถผลิตได้ทันความต้องการ จึงได้เริ่มทำการสั่งซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อทำการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่มีรูปแบบกลมแบนตามต่างประเทศ จนกระทั่งในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ก็ได้มีการประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วงอย่างเป็นทางการและให้ใช้เหรียญกษาปณ์กลมแบนตามแบบของยุโรปเป็นเงินตราของประเทศไทยครับ

และเหรียญไฮไลท์สุดท้ายที่ผมจะขอพูดถึงก็คือ “เหรียญทองแดง ตราช้าง – เมืองไท” และ “เหรียญทองแดง ตราดอกบัว – เมืองไท” เหรียญที่รัชกาลที่ ๓ ได้โปรดเกล้าให้หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช หรือชื่อเดิมคือนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษเชื้อสายสก๊อต สั่งผลิตเหรียญกษาปณ์กลมแบนจากต่างประเทศจำนวน 2 ชนิด ชนิดละ 500 เหรียญ โดยมีรายละเอียดของแต่ละชนิดดังนี้

  • ชนิดแรก : ด้านหน้าเป็นรูปช้าง มีเลข ๑๑๙๗ ซึ่งเป็นปีจุลศักราชอยู่ด้านล่างช้าง ส่วนด้านหลังเป็นภาษาไทย มีคำว่า “เมืองไท” และรูปดาวเปล่งอยู่ด้านบนและด้านล่างอย่างละดวง

  • ชนิดที่สอง : ด้านหน้าเป็นรูปดอกบัวมีหมายเลข ๑๑๙๗ ซึ่งเป็นปีจุลศักราชอยู่ด้านล่างดอกบัว ส่วนด้านหลังเป็นภาษาไทย มีคำว่า “เมืองไท” และรูปดาวเปล่งอยู่ด้านบนและด้านล่างอย่างละดวง

ทั้งนี้ตามประวัติศาสตร์บอกว่ารัชกาลที่ ๓ ทรงทอดพระเนตรเหรียญตัวอย่างทั้งสองเหรียญแล้ว แต่ยังไม่พอพระทัย เนื่องจากเหรียญที่เป็นรูปช้างมีลักษณะคล้ายกับช้างศรีลังกามากกว่าช้างไทย ส่วนเหรียญที่เป็นรูปดอกบัวก็มีความคล้ายกับสัญลักษณ์ ของกรมเจ้าท่า จึงไม่ทรงอนุญาตให้ผลิตเหรียญเหล่านี้ออกมาใช้ แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การใช้เหรียญกษาปณ์กลมแบนแบบในทุกวันนี้ครับ

หมายเหตุ :  นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ มีอีกชื่อนึงที่คนไทยคุ้นเคยกันดีคือ นายหันแตร

สำหรับเนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจในชั้นนี้ก็ยังมีอีกมาก หากใครมีเวลาก็ค่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ นะครับ เพราะจะทำให้เราเข้าใจเรื่องราวของการวิวัฒนาการของเหรียญและประวัติศาสตร์ชาติไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องของการผลิตเหรียญด้วยแรงงานคน หรือ วิธีการค้าขายในสมัยอยุธยาที่ต้องขายผ่านกรมพระคลังสินค้าเท่านั้น และเรื่องที่ผมว่าห้ามพลาดโดยเด็ดขาดก็คือเรื่องราวของ “เงินถุงแดง” หรือ “เงินพระคลังข้างที่” จำนวน 40,000 ชั่ง เงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงได้จากการค้าสำเภาส่วนพระองค์เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิศริยยศ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และได้เป็นเงินที่ถูกนำมารักษาเอกราชของประเทศไทยจากวิกฤต ร.ศ.112 ในสมัยรัชกาลที่ ๕

หมายเหตุ : เงินถุงแดงจำนวน 40,000 ชั่ง ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 10,000 ชั่ง รัชกาลที่ ๓ ทรงนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่วนอีก 30,000 ชั่ง ได้เก็บไว้ให้ใช้ไถ่ถอนบ้านเมืองเมื่อเกิดวิกฤตการณ์สำคัญ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ เงินจำนวนดังกล่าวก็ได้ถูกนำไปให้ฝรั่งเศสเพื่อรักษาเอกราชของประเทศไทย โดยเงินจำนวนดังกล่าวมีค่าเท่ากับเงินประมาณ 2.4 ล้านบาทในสมัยนั้น ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่มีมูลค่าสูงมากครับ

หลังจากที่เรารู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเงินตรา และเรื่องราวของเหรียญต่างๆ ในชั้น B2 แล้ว เรื่องราวในชั้น B1 ก็จะเป็นเรื่องราวที่พูดถึงธนบัตรของประเทศไทย โดยประเทศไทยเริ่มมีการใช้ธนบัตรครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากการใช้ “เงินกระดาษ” และยังไม่ได้เรียกว่า “ธนบัตร” เหมือนในปัจจุบันนี้ แต่ใช้คำเรียกว่า “หมาย” แทน โดยเริ่มออกใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2396 และหลังจากนั้นก็เริ่มมีธนบัตรประเภทต่างๆ ในประเทศไทยมากมาย เช่น ธนบัตรหน้าเดียว ที่สั่งมาจากประเทศอังกฤษ โดยเป็นธนบัตรที่มีรูปภาพกับตัวอักษรเพียงด้านเดียวเท่านั้น ส่วนอีกด้านจะไม่มีอะไรพิมพ์เลย

และด้วยความที่ธนบัตรหลายๆ ประเภทมีสองหน้า ดังนั้นทางพิพิธภัณฑ์ก็เลยทำตู้แสดงธนบัตรที่ให้เราสามารถกดพลิกธนบัตรไปมาได้ ใครสนใจอยากดูรายละเอียดของธนบัตรไหนเป็นพิเศษก็ลองกดูนะครับ ผมว่ามันเจ๋งใช้ได้เลย

และนอกจากที่ชั้นนี้จะมีการรวบรวมธนบัตรหมุนเวียนแบบต่างๆ ที่เราใช้งานจริงในประเทศไทยตั้งแต่แบบที่ 1 จนถึงแบบที่ 17 ซึ่งเป็นพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของกองทัพอากาศ ที่พึ่งมีการใช้งานเป็นครั้งแรกในวันที่ 6 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ที่ชั้นนี้ก็ยังมีเหรียญที่ระลึกพิเศษ รวมไปถึงธนบัตรแบบพิเศษ, ธนบัตรที่ระลึกและบัตรธนาคาร ให้เราดูอีกเป็นจำนวนมากเลยครับ

นี่เป็นหนึ่งในธนบัตรที่ระลึกที่เราคุ้นเคยกันดีครับ ธนบัตรมูลค่า 70 บาท ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี

ส่วนนี่เป็นธนบัตรที่ระลึกแบบต่างๆ ครับ บางแบบก็ต้องยอมรับเลยว่าผมไม่เคยเห็นมาก่อนเลย และบางแบบก็มีมูลค่าที่หน้าธนบัตรสูงมาก เช่น ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในวโรกาสวันราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครบ 50 ปี โดยมีการประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 และมีราคาที่หน้าธนบัตร 500,000 บาท แต่มีราคาจำหน่ายจริงอยู่ที่ 1,000,000 บาทต่อใบ

ทั้งนี้ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในวโรกาสวันราชาภิเษกสมรส ครบ 50 ปี ของรัชกาลที่ ๙ นั้นจะมี 2 หมวดด้วยกันคือ หมวดตรา ภปร. และหมวดตรา สก. โดยมูลค่าเงินจำหน่ายที่เกินหน้าธนบัตร จำนวน 500,000 บาทต่อใบ ในหมวด ภปร. นั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำไปมอบให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา ส่วนในหมวด สก. นั้นจะนำไปมอบให้กับมูลนิธิศิลปาชีพครับ และสำหรับใครที่อยากจะรู้เรื่องราวของธนบัตรพิเศษนี้เพิ่มเติม ก็สามารถดูคลิปที่ด้านล่างรูปได้เลยครับ

และก่อนที่จะออกจากชั้นนี้ ผมอยากให้ทุกคนแวะไปที่บริเวณตามรูปภาพนี้ก่อนนะครับ เพราะที่บริเวณนี้จะมีการเล่าถึงจุดกำเนิดของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมีต้นเหตุสำคัญมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเค้าจะมีการบอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพวีดีโอในจอยักษ์แล้วก็ตัวอักษรครับ

เมื่อเรารู้เรื่องราวและความเป็นมาของการแลกเปลี่ยน, เงินตรา, เหรียญกษาปณ์, ธนบัตร และจุดกำเนิดของธนาคารแห่งประเทศไทยครบหมดแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องเดินขึ้นไปที่ชั้น 1 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของการชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้วครับ โดยที่ชั้น 1 นี้จะเป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่บทบาทหน้าที่, นโยบายและประวัติของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่คนแรกจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงเรื่องราวที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น การปลูกฝังและให้คนรู้จักคุณค่าของการออม เพื่อให้มีชีวิตหลังเกษียณที่ดี, สายด่วน 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน องค์กรภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นที่ร้องเรียนกรณีที่ผู้บริโภคประสบปัญหาในการใช้บริการธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายในเมืองไทย เป็นต้น

ใครที่สนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษก็ลองไล่ๆ ดูกันนะครับ หน้าจอส่วนใหญ่ของเค้าจะกดได้หมดเลย รวมทั้งยังมีการเล่าข้อมูลเป็น 2 ภาษา คือ ไทยและอังกฤษอีกด้วย

และเมื่อเราชมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทยครบหมดแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องก้าวผ่านประตูทางออกของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ซักที โดยที่ประตูทางออกจะมีกล่องให้เราใส่บัตรเข้าชมอยู่ครับ เราก็เพียงแต่แสกนบัตรผ่านประตูทางออกแล้วก็นำบัตรของเราหย่อนลงกล่องเพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้น

และด้วยความที่บริเวณประตูทางออกนั้นจะมีร้าน Coffee Shop ที่ชื่อว่า Pacamara อยู่ ดังนั้นหากใครที่ยังไม่รีบไปไหน อยากจะนั่งจิบกาแฟ, กินขนม, นั่งเม้าท์มอยกับเพื่อนๆ หรือจะนั่งชิลๆ ดูวิวแม่น้ำเจ้าพระยาก็สามารถเลือกใช้บริการได้ตามสะดวกเลยครับ ที่นั่งเค้ามีเยอะมาก และจากที่ผมไปส่องราคามาทั้งเครื่องดื่มและขนมก็พบว่าราคาไม่แพงเลย เครื่องดื่มอยู่ที่แก้วละประมาณ 50-60 บาทเท่านั้นเอง

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย และพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย อีกหนึ่ง The Hidden Gems Thailand หรือสถานที่เร้นลับดีๆ ที่ทุกคนไม่ค่อยรู้จัก ใครที่เป็นคนที่ชื่นชอบเรื่องราวของเงินตรา, เหรียญ และธนบัตร ที่นี่เป็นที่ที่คุณไม่ควรพลาดเลยครับ และหากคุณได้มีโอกาสมาที่นี่ทั้งทีแล้วก็อย่าลืมที่จะแพลนมาให้ตรงกับวันเสาร์เพื่อที่จะเข้าชมวังบางขุนพรหมด้วยนะครับ จะได้มาแล้วคุ้มสุดๆ ไปเลย

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านจนจบ เดี๋ยวรีวิวหน้าผมจะพาทุกท่านไปยังสถานที่เร้นลับแบบไหน ก็ติดตามกันได้ที่เวบไซต์แห่งนี้ หรือที่แฟนเพจ “ภรรยาหา สามีใช้” ได้เลยครับ ส่วนใครที่อ่านเรื่องราวของที่นี่จบแล้ว แต่ยังมีอะไรสงสัยอยู่ก็สามารถโทรไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 02-3567766 ได้เลยครับ แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผมในวันที่ไปใช้บริการเท่านั้นครับ แต่ละท่านที่ได้มีโอกาสไปใช้บริการอาจจะได้รับการบริการที่แตกต่างจากนี้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก
Exit mobile version