Home Travel วังบางขุนพรหม : ล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ กับวังแสนสง่าเคียงคู่เจ้าพระยา

วังบางขุนพรหม : ล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ กับวังแสนสง่าเคียงคู่เจ้าพระยา

วังบางขุนพรหม คือหนึ่งในสถานที่ในกรุงเทพที่ผมอยากจะไปมากๆ ที่นึง โดยสถานที่นี้นอกจากจะมีความสวยงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังเป็นสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ – ๗ ของราชวงศ์จักรีครับ

และในที่สุดหลังจากการรอคอยมายาวนาน ความฝันและความตั้งใจของผมก็สำเร็จลุล่วง เพราะหลังจากที่ผมเริ่มวางแผนที่จะทำ The Hidden Gems Thailand Project หรือการรวบรวมสถานที่ลับๆ ดีๆ ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักมาเผยแพร่ให้คนรู้จักมากยิ่งขึ้น ชื่อของวังบางขุนพรหม และศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยคือชื่อแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในรายชื่อที่ผมลิสต์ไว้เลยครับ

เอาล่ะ….ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว ก็ตามไปชมความงาม เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และเข้าใจถึงความสำคัญของเงินตราไปพร้อมๆ กับผมได้เลยครับ

Disclosure : บทความนี้เป็นบทความที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้บริการใดๆ ทั้งสิ้น

เริ่มกันที่เรื่องแรก เรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าว่า วังบางขุนพรหมนั้นคือวังของใคร และตั้งอยู่ที่ตรงไหนครับ

วังบางขุนพรหม คือ วังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือทูลกระหม่อมบริพัตร ต้นราชสกุลบริพัตร โดยท่านเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี  นอกจากนี้ท่านยังคงเป็นจอมพล จอมพลเรือ ดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการทหารในสมัยนั้นหลายตำแหน่ง ทั้งตำแหน่งเสนาธิการทหารบก, ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ, เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ, เสนาธิการทหารบก, เสนาบดีกระทรวงกลาโหม, เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร และนั่นก็เลยทำให้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญของประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ท่านและวังบางขุนพรหมจึงเป็นเป้าหมายหลักที่ทางคณะราษฎรต้องการเป็นอย่างมาก

และจากการที่คณะราษฎรได้บุกวังบางขุนพรหมในวันนั้น ก็ทำให้ท่านกลายเป็นองค์ประกันสำคัญของเหตุการณ์ในครั้งนั้น และท่านก็ได้ถูกควบคุมองค์ไปประทับยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมกับเจ้านายพระองค์อื่น ๆ รวมถึงบุคคลสำคัญต่าง ๆ ของประเทศไทยในตอนนั้น และหลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็ต้องเสด็จออกจากประเทศไทยอย่างกะทันหัน โดยเสด็จไปด้วยรถไฟขบวนพิเศษที่วิ่งตลอดเวลาไม่มีหยุดพักจนถึงเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 และได้ย้ายไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคไตและพระหทัย เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2487 ณ ตำหนักประเสบัน เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่ทรงพระชนพรรษา 63 พรรษา และได้มีการพระราชทานเพลิงพระศพ ที่พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2493

หมายเหตุ : สำหรับท่านใดที่ต้องการอ่านประวัติของทูลกระหม่อมบริพัตรเพิ่มเติม สามารถกดที่นี่เพื่อไปอ่านต่อได้เลยครับ

และภายหลังเหตุการณ์การปฏิวัติเมื่อปี พ.ศ. 2475 วังบางขุนพรหมก็ได้ตกเป็นของรัฐบาล และกลายมาเป็นสถานที่ราชการต่างๆ ทั้งกรมยุวชนทหารบก, สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2488 วังบางขุนพรหมก็ได้กลายมาเป็นที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้ครับ

ดังนั้นสำหรับใครที่อยากจะมาเยี่ยมชมความงามของวังแห่งนี้ก็สามารถมาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ ถ.สามเสน ตามแผนที่ด้านล่างได้เลยครับ โดยเค้าจะเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมฟรี ทุกๆ วันเสาร์ วันละ 4 รอบ คือ รอบเวลา 10.30 น., 11.30 น., 13.30 น. และ 14.30 น. โดยใน 1 รอบจะรับคนทั้งหมด 100 คน และใช้เวลาเดินชมประมาณ 1 ชั่วโมงครับ

ใครที่สนใจจะเข้าชมที่นี่ ผมแนะนำให้รีบลงทะเบียนเข้าชมที่นี่เลยนะครับ เพราะเค้าจะเปิดให้ชมถึงแค่สิ้นเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น ก่อนที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำการบูรณะวังบางขุนพรหมครั้งใหญ่ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี เรียกได้ว่าใครพลาดรอบนี้ก็ต้องรอกันยาวเลยครับ

โดยในการเข้าชมแต่ละรอบที่มีการจำกัดจำนวนที่ 100 คนนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะแบ่งจำนวนผู้เข้าชมเป็นผู้ที่จองผ่านออนไลน์รอบละ 50 คน และคนที่เดิน Walk in ไปในวันดังกล่าวอีกรอบละ 50 คน โดยมีรายละเอียดต่างๆ ที่เราควรรู้ก่อนเข้าชมดังนี้

  • เราสามารถจองรอบเข้าชมล่วงหน้าได้ 30 วัน โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะปิดรอบการจองทุกวันศุกร์ เวลา 12.00 น.

  • รอบนำชมจะมีทั้งหมด 4 รอบ รอบละ 100 ที่นั่ง (จองผ่านออนไลน์ 50 ที่นั่ง รับบัตรคิวหน้างานอีก 50 ที่นั่ง)

  • โปรดตรวจสอบวันที่และรอบการเข้าชมให้ถูกต้องก่อนกด Register

  • เมื่อลงทะเบียนจองสำเร็จ จะมี e-mail แจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบ

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย ขอสงวนสิทธิ์การเข้าชมเฉพาะผู้ที่มีรายชื่อในระบบการจองตามรอบเท่านั้น

  • โปรดนำบัตรประชาชน บัตรนักเรียน-นักศึกษา ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทางมาแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่

  • กรุณามาถึงก่อนรอบเข้าชม 30 นาที

  • ผู้เข้าชมทุกท่านต้องแต่งกายสุภาพ และไม่ถ่ายภาพรวมถึงสัมผัสสิ่งของต่างๆ ที่จัดแสดงภายในวัง

  • หากไม่สามารถเข้าชมตามรอบที่จองไว้ กรุณาแจ้งยกเลิกกลับมาที่ Museum@bot.or.th เพื่อให้สิทธิ์แก่ผู้อื่นต่อไป

เอาล่ะ ตัดกลับมาที่เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับวังบางขุนพรหมกันต่อดีกว่า วังบางขุนพรหมนั้นถูกสร้างขึ้นมาในปี พ.ศ. 2444 โดยมีพื้นที่กว่า 33 ไร่ และตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวังเทวะเวสม์ ตัวอาคารทอดตัวไปตามแนวเหนือใต้ ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีด้านหน้าวังหันไปทางถนนสามเสน และด้านหลังวังหันไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถ้าใครได้มีโอกาสไปชมวังแห่งนี้ด้วยตัวเองก็น่าจะสังเกตเห็นได้ชัดเลยว่าวังจะอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยามาก และจะอยู่ห่างจากถนนสามเสนพอสมควรเลย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะในสมัยก่อนนั้นการคมนาคมทางน้ำน่าจะยังเป็นการคมนาคมทางหลักของประเทศไทยอยู่ครับ

ภาพด้านล่างนี้เป็นภาพที่ผมถ่ายบริเวณด้านหน้าของวังที่หันไปทางถนนสามเสนครับ

ส่วนภาพด้านล่างนี้เป็นภาพของด้านหลังวังบางขุนพรหม โดยจะเป็นด้านที่หันไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาครับ

และด้วยความที่วังบางขุนพรหมเป็นวังที่มีการสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2444 ดังนั้นวังแห่งนี้จึงได้มีการต่อเติมและตกแต่งใหม่หลายครั้ง รวมไปถึงการสร้างตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในปี พ.ศ. 2454 ด้วย โดยตำหนักสมเด็จนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงสร้างให้พระมารดาของพระองค์ประทับ โดยสร้างเป็นตำหนักที่หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาและมีทางเชื่อมไปยังตำหนักใหญ่ที่ท่านประทับอยู่

นี่เป็นหน้าตาของตำหนักสมเด็จครับ โดยหากเราหันหลังให้แม่น้ำเจ้าพระยา ตำหนักนี้จะอยู่ทางซ้ายมือของวัง โดยจะมีทางเดินเชื่อมไปยังตำหนักใหญ่ทั้งชั้น 1 และ 2 ซึ่งเมื่อทั้งสองตำหนักได้มาอยู่รวมกันในที่เดียวกันแบบนี้ยิ่งทำให้ความสวยงามของวังบางขุนพรหมแห่งนี้ทวีค่าความงามขึ้นไปอีกระดับเลยครับ

สำหรับรูปแบบสถาปัตยกรรมของวังบางขุนพรหมนั้นจะเป็นสถาปัตยกรรมตามแบบตะวันตกทั้งแบบ นีโอ-บารอก, โรโกโก, อาร์ตนูโว, อาร์ตเดโค และด้วยความงาม, ตำแหน่งที่ตั้ง ตลอดจนความสมบูรณ์ต่างๆ ของวังแห่งนี้ จึงทำให้วังบางขุนพรหมได้รับการขนามนามว่าเป็นวังที่ประทับของเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าที่ใหญ่โตที่สุด โอ่อ่าที่สุดในสมัยนั้น และทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ที่ประทับ ได้รับสมัญญานามจากคนทั่วไปว่า “เจ้าฟ้าวังบางขุนพรหม” หรือ “จอมพลบางขุนพรหม”

และแม้ว่าวังแห่งนี้จะถูกสร้างมานานกว่า 100 ปีแล้ว แต่จวบจนถึงทุกวันนี้ความงามของวังบางขุนพรหมก็ยังคงงดงามอยู่คู่กับแม่น้ำเจ้าพระยาเฉกเช่นเหมือนในอดีต จนทำให้หลายๆ คนถึงกับเอ่ยปากบอกว่านี่คือหนึ่งในวังที่สวยที่สุดของเมืองไทย และเป็นวังที่มีสถาปัตยกรรมบารอกและโรโคโคที่สมบูรณ์ที่สุด

และไม่ใช่เพียงแค่สถาปัตยกรรมภายนอกเท่านั้นที่งดงาม เพราะภายในวังแห่งนี้ยังมีสถาปัตยกรรมที่งดงามมาก โดยสิ่งที่หลายๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดีหรือเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างก็คือ ห้องสีชมพู และห้องสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสองห้องที่ได้รับการตกแต่งอย่างหรูหรา วิจิตร และมีชื่อเสียงมาก โดยเดิมทั้งสองห้องนี้เป็นห้องรับแขกที่สำคัญมาก ทั้งรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี จนถึงพระราชวงศ์จากต่างประเทศหลายพระองค์ต่างก็เคยเสด็จมาประทับที่ห้องนี้ โดยในปัจจุบันนี้ทั้งห้องสีชมพู และห้องสีน้ำเงินได้ใช้จัดแสดงพระฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๘, ภาพเขียน ภาพถ่ายเจ้านายในราชสกุลบริพัตร เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร รวมไปถึงสิ่งของและเครื่องใช้ต่างๆ ที่สำคัญภายในวังครับ

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายมากที่ในปัจจุบันนี้ทางวังบางขุนพรหมไม่ได้เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าไปภายในทั้งสองห้องนี้แล้วนะครับ โดยทางเจ้าหน้าที่จะให้เรามองผ่านกระจกเข้าไปเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเพียงแค่การมองผ่านกระจกแต่ความงามและความขลังของสองห้องนี้ก็ยังเป็นอะไรที่สร้างความประทับใจให้กับคนที่ได้มีโอกาสเห็นเป็นอย่างดี

สำหรับการชมวังบางขุนพรหมนั้นจะเปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์โดยจะแบ่งเป็นรอบๆ ตามที่ผมได้แจ้งไว้ คือ รอบเวลา 10.30 น., 11.30 น., 13.30 น. และ 14.30 น. โดย 1 รอบจะรับคนทั้งหมด 100 คน และใช้เวลาเดินชมประมาณ 1 ชั่วโมง ใครที่ลงทะเบียนชมไว้รอบไหนก็ให้ไปถึงก่อนเวลาประมาณ 30 นาทีนะครับ เพราะเราจะได้เข้าไปถ่ายรูปบริเวณด้านนอกของวังกันก่อน แต่ผมจะบอกว่าเราไม่ต้องรีบไปก่อนหน้านั้นนานนะครับ โดยเฉพาะคนที่ขับรถไปเองเพราะทางเจ้าหน้าที่เค้าจะเปิดประตูให้เราเข้าล่วงหน้าแค่ 30 นาทีเท่านั้น หากใครไปถึงก่อนเวลาที่เค้าเปิดประตูก็ต้องยืนคอยที่ด้านนอก หรือไม่ก็ต้องนำรถไปจอดที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยที่อยู่ฝั่งตรงข้ามแทนครับ

โดยเมื่อเราไปถึงที่ประตูทางเข้า ทางเจ้าหน้าที่จะขอบัตรประชาชนเราทุกคน จากนั้นก็จะตรวจสอบรายชื่อกับผู้ที่ทำการลงทะเบียนออนไลน์ หากใครที่ไม่ได้ทำการลงทะเบียนออนไลน์มาก่อนก็ต้องทำการลงทะเบียนกันที่บริเวณประตูนั้นแหละครับ โดยเมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้วทางเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้เราเข้าไปถ่ายรูปบริเวณด้านนอกของวัง และแจ้งว่าเมื่อใกล้ถึงเวลาของรอบที่เราลงทะเบียนไว้ก็ให้เราไปรวมกันที่ประตูที่อยู่ทางซ้ายของวัง เดี๋ยวจะมีเจ้าหน้าที่พาเราเข้าไปชมต่อตามกระบวนการ

หมายเหตุ : สำหรับการจอดรถที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยที่อยู่ฝั่งตรงข้ามนั้น จะสามารถจอดรถได้ฟรี 4 ชั่วโมง โดยเราต้องทำการประทับตราที่หน้าห้องสมุดที่อยู่ภายในอาคารศูนย์การเรียนรู้ หากจอดเกิน 4 ชั่วโมง จะคิดชั่วโมงละ 20 บาทครับ

ยังไงใครที่ได้เข้าไปภายในเขตวังแล้วก็อย่าเดินถ่ายรูปเพลินนะครับ ดูเวลาให้ดีๆ ด้วย จะได้ไม่พลาดรอบไป ส่วนใครที่ต้องการเข้าห้องน้ำ ที่บริเวณข้างๆ วังจะมีห้องน้ำริมวังเปิดบริการอยู่ครับ สามารถเดินเข้าไปใช้ได้เลย

นี่เป็นภาพของจุดที่เราต้องไปรอเพื่อเข้าชมภายในวังครับ จะมีที่นั่งให้เรานั่งรอประมาณ 15 คน โดยก่อนที่เราจะเข้าไปชมนั้น เราจะต้องถอดรองเท้า และแสกนกระเป๋าเราก่อนด้วย ส่วนระเบียบข้อบังคับอื่นๆ ก็สามารถอ่านตามป้ายที่ผมถ่ายมาได้เลยครับ

เมื่อเราเข้าไปในวังแล้วทางเจ้าหน้าที่จะพาเราไปนั่งรวมกันที่ห้องหนังสือที่อยู่บริเวณชั้น 1 เพื่อเล่าถึงภาพรวมและประวัติความเป็นมาของวังบางขุนพรหม โดยจะมี VTR ให้เราดูประมาณ 10 นาที จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็จะพาเราเดินชมความงามของวังแห่งนี้พร้อมทั้งเล่าเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย เช่น ประวัติของวัง, การบูรณะวังบางขุนพรหม, เรื่องราวของห้องสีชมพูและห้องน้ำเงิน รวมไปถึงสถานที่เก็บพระสยามเทวาธิราชปางประทับนั่ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยครับ

สำหรับคนที่สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ ผมแนะนำเลยครับว่าให้พยายามเดินใกล้ๆ เจ้าหน้าที่ไว้ เพราะหากวันไหนที่มีคนไปชมรอบเดียวกับเราเยอะ และเราอยู่ข้างหลัง เราจะแทบไม่ได้ยินเสียงที่เจ้าหน้าที่บรรยายเลย ซึ่งการที่ผมได้เดินใกล้ๆ กับเจ้าหน้าที่ที่บรรยายก็เลยทำให้ผมได้ทราบข้อมูลเพิ่มอีกเพียบเลย เช่น ประวัติของห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์ ห้องที่เคยใช้เป็นห้องบรรทมของหม่อมเจ้าประสงค์สม ชายาของทูลกระหม่อมบริพัตร ซึ่งในเวลาต่อมาห้องนี้ได้ใช้เป็นห้องทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่พระองค์แรก “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย” พระอนุชาของหม่อมเจ้าประสงค์สม จนกระทั่งถึงสมัยผู้ว่าการคนที่ ๑๐ “นายนุกูล ประจวบเหมาะ” หรือแม้กระทั่งเรื่องที่ทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงพระปรีชาสามารถในงานดนตรีมาก จนได้รับการขนานพระนามเป็น “พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม” และทำให้วังบางขุนพรหมในสมัยอดีตเต็มไปด้วยเสียงเพลงแทบจะตลอดเวลา รวมไปถึงการมีกลองวางเรียงกันอยู่ที่ชั้น 2 ของวังถึง 32 ใบ!!!

หมายเหตุ : ปัจจุบันนี้กลองทั้ง 32 ใบได้ถูกย้ายไปอยู่ที่วังสวนผัดกาดแล้วครับ

ส่วนนี่เป็นศาลาแตร ศาลาวงกลมที่อยู่ทางด้านหลังของวังครับ โดยศาลานี้สร้างเลียนแบบยุโรปและใช้เป็นที่ตั้งวงดนตรีแตรวงของทหารเรือ ทหารบก เมื่อมีการเลี้ยงต้อนรับแขกต่างๆ

สำหรับการเข้าชมภายในวังบางขุนพรหมนั้น เราจะไม่สามารถถ่ายรูปสถาปัตยกรรมภายในวังได้เลยนะครับ ยกเว้นบริเวณจุดเดียวก็คือบริเวณบันไดทางเดินขึ้นชั้น 2 ของวัง โดยทางเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้เราถ่ายภาพหลังจากที่พาเราชมวังเสร็จแล้ว ซึ่งด้วยความที่มีผู้ชมในแต่ละรอบเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการที่มีคนชมจากรอบถัดไปเตรียมจะเข้ามาชมต่อ ดังนั้นเวลาในการถ่ายรูปในจุดนี้ก็จะน้อยมาก ใครที่ต้องการจะถ่ายรูปก็เตรียมตัวให้พร้อม และรีบถ่าย รีบออกจากจุดนะครับ เพื่อที่คนอื่นๆ จะได้มีโอกาสถ่ายเหมือนกับเราบ้าง

และเมื่อเราชมภายในวังเสร็จเรียบร้อย ทางเจ้าหน้าที่จะให้โอกาสเราถ่ายรูปบริเวณวังด้านนอกต่ออีกซักพัก ใครที่อยากถ่ายจุดไหนเป็นพิเศษก็รีบไปถ่ายเลยนะครับ หรือหากใครอยากจะไปชมจุดไหนที่ทางเจ้าหน้าที่เค้าเล่าให้ฟังก็สามารถไปดูได้ เช่น แทงก์น้ำที่ทำจากอุปกรณ์บนเรือรบ แบบนี้ครับ

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของประวัติศาสตร์และความสวยงามของวังบางขุนพรหม อีกหนึ่ง The Hidden Gems หรือสถานที่เร้นลับที่หลายคนไม่ค่อยรู้จักครับ ใครที่อยากจะชมความงามของวังแห่งนี้ก็รีบลงทะเบียนไปชมภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2561 นะครับ เพราะหลังจากนี้เค้าจะปิดบูรณะยาว ส่วนถ้าใครที่ลงทะเบียนไม่ทันก็คงต้องรอติดตามข่าวจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยกันอีกครั้งว่าวังแห่งนี้จะเปิดให้เข้าชมอีกเมื่อไหร่ และมีระเบียบต่างๆ แตกต่างจากเดิมยังไงบ้าง

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านจนจบ และสำหรับใครที่ยังมีเวลาเหลือ ผมขอแนะนำให้ตามผมไปเที่ยวต่อที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย นะครับ ที่นี่ถือเป็นอีกหนึ่ง The Hidden Gems ที่ดี และเข้าชมฟรีด้วย ที่สำคัญศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ยังอยู่ตรงข้ามกับวังบางขุนพรหมด้วยครับ เดินข้ามถนนก็ถึงทันที ใครที่สนใจในเรื่องของเหรียญ, ธนบัตร และความเป็นมาของเงินตราไม่ควรพลาดที่จะเข้าชมเลยครับ

และเพื่อไม่ให้พลาดทุกเรื่องราวกินและเที่ยวของผมกับต๋ง ผมขอแนะนำให้ทุกคนกดติดตามแฟนเพจ “ภรรยาหา สามีใช้” ได้เลยครับ ส่วนใครที่อ่านเรื่องราวของวังบางขุนพรหมจบแล้ว แต่ยังมีอะไรสงสัยอยู่ก็สามารถโทรไปสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 02-2835265 ได้เลยครับ แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผมในวันที่ไปใช้บริการเท่านั้นครับ แต่ละท่านที่ได้มีโอกาสไปใช้บริการอาจจะได้รับการบริการที่แตกต่างจากนี้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก
Exit mobile version