ต้องบอกว่าช่วงนี้กระแสท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือการท่องเที่ยวแบบสัมผัสท้องถิ่น สัมผัสวิถีชาวบ้านจริงๆ นั้นกำลังเป็นกระแสท่องเที่ยวที่กำลังเริ่มมีคนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นการท่องเที่ยวที่ทำให้เราได้ทั้งประสบการณ์ชีวิต ความรู้ และได้สัมผัสความสวยงามหลายๆ อย่างที่เราเคยมองผ่านหรือไม่เคยนึกถึงมันมาก่อน
แต่ต้องบอกว่าการเที่ยวแบบนี้นั้นอาจจะยากสำหรับบางคนที่ไม่ใช่แนวลุยๆ ซักเท่าไหร่ เพราะการที่เราจะเข้าไปชุมชนแบบนั้นได้ เราก็ต้องรู้จักสถานที่รวมทั้งรู้จักผู้นำชุมชน หรือคนที่มีความรู้ที่จะสามารถบอกเล่าเรื่องราวราวต่างๆ ให้เราฟังได้ด้วย มันจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด และผมว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ของการเที่ยวแบบนี้ ซึ่งปัญหานี้ผมก็เจอกับตัวเองเลย เพราะถึงแม้ใจผมจะชอบการท่องเที่ยวแบบนี้มากแค่ไหน แต่ด้วยเวลาที่จำกัด และข้อมูลที่หาได้ก็มีน้อยมาก ดังนั้นมันก็เลยไม่รู้ว่าจะตั้งต้นไปที่ไหนดี ไม่รู้ว่าไปแล้วจะคุยกับใคร ไม่รู้ว่าไปแล้วจะนอนตรงไหนได้ แต่ในที่สุดปัญหานี้ก็หมดไปเมื่อผมได้มีโอกาสไปร่วมทริปกับ Local Alike เพื่อไปสัมผัสวิถีชาวเขาเผ่าอาข่าที่หมู่บ้านหล่อโย จ.เชียงราย โดยทริปนี้เป็นทริปที่ทาง Local Alike จัดขึ้นมาเพื่อให้ผมกับเพื่อนๆ บลอกเกอร์อีก 3 ท่าน ไปลองสัมผัสประสบการณ์เที่ยวสไตล์นี้ โดยผมกับเพื่อนๆ ยังได้ช่วยกันแนะนำในจุดต่างๆ เพื่อให้โปรแกรมทริปหลังจากนี้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุดด้วยครับ
แต่ก่อนที่จะไปดูรายละเอียดของทริปนี้ ผมขออนุญาตเล่าถึง Local Alike คร่าวๆ ก่อนแล้วกันนะครับ ถ้าจะพูดให้ง่ายๆ กระชับๆ ก็คือ Local Alike เป็นบริษัททัวร์ที่เน้นการจัดการเดินทางแบบสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่นซึ่งมีหลายเส้นทางมากๆ ตั้งแต่ในกทม. จนถึงต่างจังหวัด โดยในช่วงนี้ได้เน้นที่เส้นทางภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง เพราะเป็นพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ให้เติบโตมากขึ้น โดยทริปที่ผมไปนั้นจะใช้เวลาทั้งหมด 2 วัน 1 คืนด้วยกัน
Disclosure : บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้บริการ แต่ทั้งนี้ความเห็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นความรู้สึกจริงของผมครับ
ทริปนี้ของผมเริ่มจากการขึ้นเครื่องบินจากสนามบินดอนเมืองในช่วงเวลาประมาณ 8.00 น. และใช้เวลาในการบินประมาณ 1 ชั่วโมงนิดๆ เพื่อไปยังสนามบินแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และหลังจากที่เราหยิบสัมภาระต่างๆ รวมทั้งเข้าห้องน้ำห้องท่าเรียบร้อยแล้ว เราก็ขึ้นรถจากสนามบินแม่ฟ้าหลวงต่อไปยังบ้านหล่อโย จ.เชียงรายทันที โดยบ้านหล่อโยนี้จะอยู่ใกล้ๆ กับดอยแม่สลอง และเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าอาข่าที่ได้มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่นานกว่า 80 ปีแล้ว
การเดินทางจากสนามบินเชียงรายไปยังหมู่บ้านหล่อโยนั้น จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที โดยเส้นทางส่วนใหญ่แม้จะเป็นเส้นทางขึ้นเขาและคดเคี้ยว แต่ก็เป็นเส้นทางที่ดีมากๆ ถนนลาดยางสองเลนอย่างดี มีเฉพาะช่วง 4-500 เมตรสุดท้ายก่อนเข้าหมู่บ้านเท่านั้นที่ยังเป็นทางดินลูกรังอยู่ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่เมารถง่ายๆ นั้น ก็ควรจะทานยาแก้เมารถก่อนครับ
หลังจากที่เราถึงหมู่บ้านเรียบร้อย เราก็แยกย้ายเอาของไปเก็บที่ห้องพัก โดยที่พักของเราในวันนี้ชื่อ “บ้านดินอาข่าดอยแม่สลอง (Akha Mudhouse Maesalong)”
ลักษณะที่พักของเรานั้นจะเป็นบ้านดิน ซึ่งจุดเด่นของมันนอกจากจะช่วยลดการใช้พลังงาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ตัวบ้านดินจะเย็นสบายตลอดทั้งปี แม้ว่าอากาศข้างนอกร้อนเราก็จะไม่ร้อนมาก หรือแม้อากาศข้างนอกหนาวเราก็จะไม่หนาวมาก เพราะบ้านดินมีคุณสมบัติในการเป็นฉนวน ทำให้อุณหภูมิภายในบ้านจะเฉลี่ยอยู่ที่ 25-26 องศาเซลเซียสตลอด ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เราสามารถอยู่ได้อย่างสบาย อีกทั้งฝาผนังบ้านดินยังสามารถดูดซึมความชื้นได้ดี ดังนั้นบ้านดินจึงช่วยปรับความชื้นภายในบ้านได้ด้วย หลายๆ คนก็เลยมักจะบอกว่าบ้านดินคือบ้านที่มีชีวิต สามารถหายใจได้นั่นเอง
สำหรับจำนวนห้องพักของบ้านดินอาข่าดอยแม่สลองในตอนนี้นั้นจะมีทั้งหมด 8 ห้อง แบ่งเป็น 4 ห้องที่มีห้องน้ำในตัว และอีก 4 ห้องที่ไม่มีห้องน้ำในตัว โดยตัวผมนั้นได้นอนแบบที่มีห้องน้ำในตัว ซึ่งขนาดห้องไม่ได้ใหญ่มาก แต่เพียงพอในการใช้ชีวิตอยู่คือ มี 1 เตียงนอนที่สามารถนอนสองคนได้ ชั้นวางของเล็กน้อย พัดลม พัดลมระบายอากาศแล้วก็ห้องน้ำครับ
ในห้องนั้นจะมีผ้าห่มผืนใหญ่ๆ, ผ้าเช็ดตัว แล้วก็น้ำเปล่า 2 ขวดให้เราเรียบร้อยแล้ว ส่วนในห้องน้ำก็มีพวกสบู่, ยาสระผม, หมวกอาบน้ำ แล้วก็ทิชชู่ไว้พร้อมเช่นเดียวกัน เรียกว่าเราเอาแค่แปรงสีฟันกับยาสีฟันมาก็อยู่ได้สบายๆ เลยครับ
การตกแต่งของห้องนั้น ทางบ้านดินอาข่าดอยแม่สลองเน้นเอาพวกวัสดุเหลือใช้อย่างพวกขวดเปล่าๆ มาตกแต่งตามผนังซึ่งผมว่ามันสวยดี ส่วนตัวห้องน้ำก็เอาวัสดุในธรรมชาติเช่น ไม้ไผ่ อ่างดินมาตกแต่ง ทำให้มันดูเรียบง่ายแต่สวยงามมากเลยครับ
ขนาดของห้องน้ำผมว่าใหญ่ใช้ได้เลย อาบน้ำสบายๆ มีเครื่องทำน้ำอุ่นให้ด้วย แถมชักโครกก็มีสายฉีดชำระด้วยครับ บอกเลยว่าผมประทับใจในตัวห้องพักมากๆ ครับ มันเรียบง่าย แต่ลงตัว และดูดีครับ
อ้อ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ผมต้องขอชี้แจงก่อนนะครับว่า จริงๆ แล้วบ้านที่ชาวเขาเผ่าอาข่าอาศัยอยู่นั้นจะไม่ใช่บ้านดินนะครับ แต่จะเป็นบ้านที่สร้างจากไม้และมุงด้วยหญ้าคาเป็นหลัก เพียงแต่ตรงบ้านพักจุดนี้เค้าทำมาเพื่อเป็นจุดขายและก็เพื่อความเหมาะสมกับการเข้าพักในทุกฤดูครับ
ภาพนี้เป็นภาพห้องน้ำรวม สำหรับคนที่นอนห้องแบบไม่มีห้องน้ำในตัว โดยจะมีทั้งห้องอาบน้ำและห้องสุขาแยกกันชัดเจน และแน่นอนว่ามีเครื่องทำน้ำอุ่นให้เช่นเดียวกันครับ
ดูห้องพักกันไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ผมก็ยังเพื่อนๆ ก็ยังเหลือเวลาอีกซักพักก่อนที่จะถึงเวลากินข้าวเที่ยง ผมก็เลยนั่งจิบชาและกินผลไม้ที่ชื่อว่ามะหลอดครับ ตัวชาหอมอร่อยดีเลย แถมมาเสิร์ฟในแก้วเก๋ๆ ที่ทำมาจากไม้ไผ่ด้วย ส่วนลูกมะหลอดนี่ผิวมันจะสากๆ หน่อย รสชาติเปรี้ยวและฝาดมากกกก เวลากินเค้าแนะนำว่าต้องนวดๆ ที่ลูกมันก่อนถึงจะกินได้ ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าทำไม แต่ด้วยความอยากรู้อย่างจริงจัง ผมก็เลยลองไปหาข้อมูลเพิ่มและก็ได้เรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับมะหลอดดังนี้ครับ
มะหลอด เป็นผลไม้ของทางภาคเหนือ โดยจะออกดอกออกผลในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อยามที่ผลสุก ต้นของมันจะดูสวยงามเต็มไปด้วยผลที่มีสีแดงสด สีส้ม สีเหลือง สีเขียว คละเคล้ากันไป เห็นแล้วน่ารับประทานมาก แต่น่าเสียดายที่ผลไม้ชนิดนี้ยังไม่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย และยังไม่มีการส่งเสริมการปลูกอย่างจริงจัง ทำในปัจจุบันเราเริ่มหากินได้ยากขึ้นเรื่อยๆ และมีผลผลิตจำหน่ายเข้าสู่ตลาดน้อยมาก โดยจะพบเห็นวางจำหน่ายตามตลาดในชนบทเท่านั้น
มะหลอด จะมีอยู่ด้วยกัน 3 รส โดยทุกรสจะมีรสฝาดรวมอยู่ด้วย ซึ่งได้แก่ มะหลอดส้มจะมีรสเปรี้ยว สีผลออกส้มใส, มะหลอดหวาน มีสีค่อนข้างแดงเข้ม หารับประทานได้ยาก และสุดท้ายมะหลอดก๋ำปอ มีรสไม่เปรี้ยวและไม่หวานมาก อย่างไรก็ตามก่อนนำมารับประทานต้องทำให้นิ่มก่อนด้วยวิธีการนวดหรือคลึงก่อน เพราะจะช่วยลดความฝาดลงไปได้เยอะ แถมยังช่วยแยกเมล็ดออกมาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย สำหรับสรรพคุณของมะหลอดนั้น ว่ากันว่ามันมีดีหลายอย่างมาก ตามนี้เลยครับ
-
ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)
-
ช่วยบำรุงเนื้อหนังให้สมบูรณ์ (ใบ)
-
ช่วยคุมธาตุในร่างกาย (ผล, ดอก)
-
ช่วยแก้โรคตา (ดอก)
-
ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียนได้ (ผล)
-
ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ดอก)
-
ช่วยแก้ไข้พิษ (เถา)
-
ช่วยขับเสมหะ (เปลือกต้น)
-
ใช้ต้มอาบแก้อาการใจสั่นได้ (ทั้งต้น)
-
ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ผลสุก)
-
ช่วยแก้อาการบิดและอาการท้องผูกในเด็ก (ผลสุก)
-
นำไปต้มเป็นน้ำดื่มช่วยแก้โรคนิ่ว (เนื้อในเมล็ด)
-
ใช้แก้ริดสีดวงจมูก (ดอก)
-
ใช้เป็นยาฝาดสมาน (ผลดิบ, ดอก)
-
นำไปแช่เหล้าที่ทำจากข้าวเหนียวตำ ใช้กินแก้อาการปวดกระดูก ปวดหัว หรืออาการเข่าเดินไม่ได้ (ราก)
-
ใช้เข้าเครื่องยา (ดอก)
เรียกว่าพอผมอ่านจบนี่ ผมถึงกับเสียดายเลยว่าทำไมเค้าไม่รณรงค์ให้ปลูกและนำเข้าตลาดให้มากกว่านี้ เอาเป็นว่าถ้าใครมีโอกาสได้ไปเจอก็ลองชิมลองกินกันดูนะครับ
หลังจากเรานั่งจิบชากับกินมะหลอดไม่นาน อาหารกลางวันก็ถูกนำมาเสิร์ฟครับ หน้าตาอาหารและภาชนะดูดีมากกกก โดยภาชนะทุกชิ้นไม่ว่าจะเป็นชาม ช้อน ตะเกียบ ล้วนทำมาจากไม้ไผ่ทั้งหมด ถึงแม้ช้อนมันจะตักข้าวยากไปนิดนึงแต่ผมก็ชอบนะ เพราะมันเก๋ดี
ส่วนอาหารนั้นเป็นอาหารพื้นบ้านที่น่ากินมากๆ ไม่ว่าจะเป็นไข่เจียวสมุนไพร, ลาบหมูสมุนไพร, ผัดยอดมะระ, มันต้นสมุนไพร แล้วก็น้ำพริกอาข่า+ผักสด ซึ่งบอกเลยว่ารสชาติอาหารนั้นถูกปากผมกับเพื่อนๆ มาก โดยเฉพาะไข่เจียวกับผัดยอดมะระ ส่วนน้ำพริกอาข่านี่เผ็ดร้อนแรงเลยครับ สายเผ็ดๆ น่าจะถูกใจมาก สรุปว่ามื้อเที่ยงมื้อนั้นผมเติมข้าวไปหลายรอบมาก ส่วนเรื่องอาหารนั้นไม่ต้องกลัวว่ามันจะหมดครับ เพราะพอมันพร่องนิดหน่อย ทางบ้านดินอาข่าเค้าก็จะรีบเอามาเติมให้เต็มด้วยความรวดเร็วเลยครับ
จบจากการกินข้าวเที่ยงอันแสนสำราญแล้ว คุณโยฮันซึ่งเป็นเจ้าของบ้านดินอาข่าดอยแม่สลอง รวมทั้งเป็นชาวเขารุ่นใหม่ที่มีความรู้ ใฝ่เรียน และต้องการผลักดันการท่องเที่ยวแบบชุมชนรวมทั้งเผยแพร่วัฒนธรรมต่างๆ ของเผ่าอาข่าเอาไว้ก็ได้มาพูดคุยกับผมและเพื่อนๆ
ตลอดการพูดคุยชั่วโมงกว่าๆ ผมได้ข้อมูลอะไรเยอะแยะมากมาย ตั้งแต่ประวัติการก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อราวๆ 80 ปี ก่อน การนับถือภูติผีปีศาจในสมัยก่อน ที่มีหมอผีประจำหมู่บ้าน และมีความเชื่อที่ว่าหากบ้านไหนคลอดลูกแฝดออกมาจะเป็นเรื่องอัปมงคล หมอผีจะนำเอาขี้เถ้ายัดปากเด็กจนเสียชีวิตและขับไล่พ่อแม่ไปอยู่นอกหมู่บ้านเป็นปีๆ ไม่ให้ใช้อะไรร่วมกับคนในหมู่บ้านเลย เช่น ถนนก็ห้ามเดินบนทางปกติ ต้องไปเดินทางแยกต่างหาก แต่ต่อมาเมื่อราวๆ 40 ปีก่อน คณะมิชชันนารีก็ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่หมู่บ้านและก็ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงความเชื่อ เปลี่ยนแปลงศาสนาใหม่ จนในที่สุดตอนนี้ชาวอาข่าส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนี้ก็จะนับถือคริสต์กันและก็มีโบสถ์อยู่ในหมู่บ้านด้วยครับ
หลังจากคุณโยฮันเล่าเรื่องหมู่บ้านจบ เค้าก็พาผมกับเพื่อนๆ ไปเล่นของเล่น 3 อย่างของชาวเขาเผ่าอาข่า ซึ่งก็ได้แก่ลูกข่าง, รถไม้ แล้วก็ไม้เขาะเนอะ หรือที่คนไทยเรียกว่าไม้โกงกาง, ไม้โถกเถกนั่นแหละครับ ซึ่งของเล่นทั้งสามอย่างนี้ผมได้ลองเล่นทั้งหมด แต่ประสบความสำเร็จในการเล่นอย่างเดียวคือลูกข่าง ส่วนรถไม้สารภาพตามตรงว่าผมวิ่งลงเนินได้ไม่ไกลก็หยุดจอด เพราะบังคับให้มันเลี้ยวอยากมาก กลัวว่ามันจะหลุดโค้งเอา @_@
ส่วนที่พีคสุดๆ สำหรับกลุ่มผมก็คือไม้เขาะเนอะนี่แหละครับ คือ มันจะมีความสูง 3 ระดับ ภาพแรกคือความสูงระดับ 2 และภาพที่สองกับสามคือความสูงระดับ 3 ซึ่งสูงมาก ส่วนผมกับเพื่อนๆ นั่นเหรอครับ ตายสนิทตั้งแต่ความสูงระดับ 1 แล้ว ทรงตัวไม่ได้ เดินไม่ไปเลยที่เดียว @_@
หลังจากที่คณะผมล้มเหลวโดยสิ้นเชิงกับการเล่นไม้เขาะเนอะและคุณโยฮันดูแล้วว่าคงจะเข็นไม่ขึ้นแน่ๆ ก็เลยพาผมกับเพื่อนๆ เดินสำรวจรอบหมู่บ้านหล่อโยกัน โดยคราวนี้มีแก๊งค์เด็กๆ ตัวแสบไปร่วมเดินทางกับเราด้วย ซึ่งต้องบอกเลยว่าตลอดการเดินรอบหมู่บ้านประมาณ 2 ชั่วโมงนั้น ผมได้เห็นได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ตั้งแต่รูปแบบบ้าน, การแต่งตัว, วิถีการปลูกผัก การเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติ และที่สำคัญคือ ได้เห็นเด็กๆ ใช้ชีวิตในแบบที่ควรจะเป็น ได้วิ่งเล่นในที่กว้างๆ ได้ปีนต้นไม้ไปหยิบผลไม้ต่างๆ มากิน ไม่ว่าจะเป็นฝรั่ง หรือผลเบอร์รี่ชนิดต่างๆ ซึ่งบางต้นนั้นอยู่ในเขตของบ้านคนอื่นด้วย แต่ด้วยนิสัยที่เอิ้อเพื้อเผื่อแผ่และการกิน การอยู่อย่างพอเพียง ทำให้แต่ละคนพร้อมที่จะแบ่งปันให้คนอื่นเสมอๆ ครับ
ในระหว่างการเดินในหมู่บ้านนั้น บางจุดจะมีคนขายของที่ระลึกอย่างพวกเครื่องประดับต่างๆ ของชาวเขาเผ่าอาข่าด้วย ราคาไม่แพงเลย แต่ที่ผมประทับใจมากที่สุดก็คือแผงขายของที่ระลึกพวกนี้จะอยู่ที่ข้างๆ ถนนทางเดินเลย พอมีนักท่องเที่ยวเดินมา แม่ค้าก็จะเดินออกมาจากบ้านแล้วก็เปิดผ้าโชว์ของขาย พอนักท่องเที่ยวไปก็ปิดผ้าไว้ตามเดิม เห็นเค้าบอกว่าทำแบบนี้มานานแล้ว ไม่มีของหายซักทีเพราะในหมู่บ้านไม่มีขโมยซักคน
พอเราเดินเที่ยวหมู่บ้านครบรอบ คุณโยฮันก็บอกว่าให้ไปเตรียมตัว เดี๋ยวจะพาไปดูสถานที่ที่คนแถวนี้เล่นน้ำกัน ใครจะเล่นก็เปลี่ยนชุดให้เรียบร้อย ตัวผมเองไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนก็เลยไม่มีชุดเปลี่ยน ผมก็เลยใช้เวลานี้สำรวจร้านขายของที่อยู่ในบ้านดินอาข่าดอยแม่สลองแทน
ในร้านขายของก็จะมีพวกของที่ระลึก เครื่องประดับต่างๆ ของชาวเขาเผ่าอาข่า แล้วก็น้ำ ขนม ไอศครีมจำหน่าย โดยราคาพวกน้ำ ขนมก็บวกเพิ่มจากปกติไม่มากครับ ส่วนเครื่องประดับต่างๆ ทางน้องและคุณแม่ของคุณโยฮันก็เป็นคนทำจำหน่ายเอง ใครเห็นแล้วชอบก็อุดหนุนกันได้ครับ
พอเพื่อนๆ ผมเตรียมตัวเสร็จ เรากับแก๊งค์เด็กๆ ก็ขึ้นหลังรถคุณโยฮันเพื่อที่จะไปเล่นน้ำกันครับ ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นรูปน้องหมาตัวสีขาวเปื้อนฝุ่นอยู่ในภาพด้วย เจ้าหมาตัวนี้ชื่อแรมโบ้ เป็นหมาของคุณโยฮัน เป็นหมาที่น่ารักและแสนรู้มากกกกกกกกกกกกกก มันชอบจะออกไปเที่ยวกับนักท่องเที่ยว โดยมันสามารถเป็นไกด์ เป็นเพื่อนร่วมทางที่ดีของเราได้เลย เพราะมันจะคอยดูแลคุณทั้งข้างหน้า ข้างหลัง วิ่งไปวิ่งมา และไม่ว่าทางจะไกลแค่ไหนมันก็จะตามคุณไปอย่างไม่หมดพลัง
อย่างเช่นตอนที่พวกผมไปเล่นน้ำกันนั้น ตอนแรกผมก็คิดว่าระยะทางไม่ไกลมาก เพราะผมก็เห็นแรมโบ้วิ่งตามมาเรื่อยๆ จนซักพักออกถนนใหญ่ วิ่งลงเขาไปราวๆ 4-5 กิโลเมตรได้ เจ้าแรมโบ้ก็ยังตามมาเรื่อยๆ อย่างไม่ลดละ จนสุดท้ายมันก็คลาดสายตาไป แต่พอรถจอดรถที่ทางเข้าจุดที่จะลงไปเล่นน้ำได้ไม่นาน มันก็โผล่มาด้วยหน้าตาที่ร่าเริงปนกับลิ้นที่ห้อยยาวมาก………..มันเป็นหมาที่ทำให้ผมรักและประทับใจมากจริงๆ
จุดที่เล่นน้ำจุดนี้ เป็นคลองน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งในช่วงต้นปีแบบนี้ระดับน้ำจะไม่สูงมาก ทำให้พอเลิกเรียน เด็กๆ จะชอบมาเล่นน้ำกัน แต่พอเข้าสู่หน้าฝนระดับน้ำจะสูงขึ้นและเริ่มไม่ปลอดภัยที่จะลงไปเล่นแล้ว
ช่วงเวลาที่ผมอยู่จุดนี้ราวๆ ครึ่งชั่วโมง ผมเห็นแต่ภาพประทับใจ ภาพความร่าเริงของเด็กๆ ตามวัยที่เค้าเป็นอยู่ ได้ยินเสียงหัวเราะ เสียงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน และถึงแม้ผมจะไม่ได้ลงเล่นเองผมก็คิดว่าผมอิ่มและพอใจกับช่วงเวลานี้มากๆ แล้วครับ
หลังจากที่เราดูเด็กๆ เล่นน้ำซักพัก เราก็เดินทางกลับมาหมู่บ้าน โดยคราวนี้เจ้าแรมโบ้ขึ้นรถกลับมาพร้อมเราด้วย ซึ่งพอผมดูนาฬิกาแล้วเห็นว่ายังมีเวลาอีกซักพักใหญ่ๆ กว่าจะถึงเวลากินข้าวเย็น ผมก็เลยขอลงกลางทางก่อนที่จะถึงหมู่บ้านราวๆ 3-400 เมตร เพื่อที่ผมจะได้ถ่ายรูปและสัมผัสอากาศ สัมผัสธรรมชาติที่บริสุทธ์แบบนี้ และแน่นอนว่าเจ้าแรมโบ้คงกลัวผมจะเหงาที่อยู่คนเดียว หรือกลัวผมหลงทาง หรือไม่มันก็มันแรดยังไม่อยากกลับบ้าน มันก็เลยลงรถพร้อมผม และคอยอยู่ข้างๆ ผมตลอดเวลาเลย………….บอกเลยว่ามันน่ารักมากจริงๆ
และนี่ก็คือโฉมหน้าเจ้าแรมโบ้ หมาสู้ชีวิตที่หูขาดหนึ่งข้าง ซึ่งเพื่อนผมในทริปได้บอกว่ามันเป็นหมาที่มีวุฒิภาวะนะ เพราะมันฟังหูไว้หูตลอดเวลา @_@
หลังจากที่ผมซึมซับบรรยากาศต่างๆ อยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง ผมก็เดินกลับหมู่บ้านและก็พบว่าตอนนี้ทางบ้านดินอาข่ากำลังทำอาหารมื้อเย็นให้กิน แต่มื้อนี้พิเศษก็คือ เค้าเปิดโอกาสให้เราช่วยทำได้ โดยเมนูหลักจะคล้ายๆ ตอนกลางวันที่เรากินไปแล้ว และนอกจากจะเปิดโอกาสให้ช่วยทำอาหารแล้ว เค้ายังให้เราแต่งตัวด้วยชุดของเผ่าอาข่าด้วย ซึ่งเพื่อนในกลุ่มผมก็จัดไปเต็มยศคนนึง ส่วนผมเห็นแล้วก็อยากจะแต่งบ้าง แต่พอเดินไปถามถึงชุดผู้ชายเค้าบอกว่าไม่มีอะไรมาก มีแค่หมวกกับเสื้อกั๊ก 1 ตัว ผมเลยเศร้าเลย อิจฉาชุดผู้หญิงจริงๆ ชุดครบเครื่องมากๆ T___T
และนี่คือโฉมหน้าอาหารเย็นที่เพื่อนผมได้มีโอกาสไปช่วยทำ แน่นอนว่ามันกินได้ และก็อร่อยด้วยครับ ><
หลังจากที่เรากินข้าวกันแบบเติมแล้วเติมอีก นั่งคุยสัพเพเหระไปซักพัก ก็เห็นว่าเป็นเวลาราวๆ สามทุ่มแล้ว จึงได้แยกย้ายกันไปทำภารกิจส่วนตัว และเตรียมตื่นมาดูพระอาทิตย์ขึ้นที่บริเวณหน้าที่พักตอนราวๆ 6.30 น. และแน่นอนว่าหลังจากที่ผมอาบน้ำเรียบร้อย ผมก็หลับไปด้วยความสบายและตื่นมาตอน 6.15 น. ตามที่ตัวเองได้ตั้งนาฬิกาปลุกเอาไว้ และนี่คือภาพวิวพระอาทิตย์ขึ้นบริเวณที่พักของผม แม้จะไม่เห็นพระอาทิตย์ตรงๆ แต่มันก็สวยงามและคุ้มค่ากับการตื่นขึ้นมาดูแล้วครับ
พอดูพระอาทิตย์ขึ้นเรียบร้อย คุณโยฮันก็บอกให้เราไปเปลี่ยนชุดทะมัดทะแมง เดี๋ยวเค้าจะพาไปเดินป่ารอบหมู่บ้านกัน ใช้เวลาประมาณชั่วโมงนิดๆ โดยเส้นทางการเดินเริ่มจากการพาชมบ้านดินหลังนึงที่ทางคุณโยฮันตั้งใจจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติและความเป็นมาของชาวเขาเผ่าอาข่า อย่างในภาพนี้ก็อธิบายถึงวิธีการหารถด่วนแล้วก็กระบวนการสีข้าว ตำข้าวของชาวอาข่าครับ
คณะของเรา เริ่มเดินออกจากหมู่บ้านและเดินตามไหล่เขาไปเรื่อยๆ โดยตลอดเส้นทางนั้นมีแต่วิวธรรมชาติที่งดงาม และก็พืชพันธุ์ต่างๆ ที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน แน่นอนว่าทริปแบบนี้เจ้าแรมโบ้ก็ไม่พลาดที่จะมาเดินร่วมทางไปกับเราด้วยครับ
เวลาผ่านไปชั่วโมงเกือบครึ่งเราก็เดินกลับมาถึงหมู่บ้าน โดยเส้นทางการเดินนี้จะเป็นวงกลม ไม่ได้ย้อนกลับทางเดิมนะครับ สำหรับฤดูที่สวยที่สุดของเส้นทางนี้น่าจะเป็นช่วงฤดูฝนกับฤดูหนาวที่ต้นไม้สองข้างทางจะเขียวชอุ่มกว่านี้ครับ
พอเรากลับมาถึงที่พัก อาหารเช้าก็เรียบร้อยพอดี เป็นข้าวต้มอร่อยๆ กับไข่เจียวสมุนไพรทีเด็ดเหมือนเคย แน่นอนว่ามื้อนี้ผมก็เบิ้ลหลายถ้วยเหมือนหลายๆ มื้อที่ผ่านมา
ส่วนนี่คือสภาพของเจ้าแรมโบ้หลังจากออกไปแรดกับเรามาในช่วงเช้า
พอทานข้าวเสร็จ คุณโยฮันก็ได้ให้แม่และน้องสาว มาสอนพวกเราทำเครื่องประดับของชาวเขาเผ่าอาข่า โดยสิ่งที่เราจะทำก็คือสร้อยข้อมือ ซึ่งจะมีวัสดุสำคัญก็คือ
-
เข็ม
-
ด้าย
-
ผ้าสีดำ
-
ลูกปัด
-
เครื่องเงิน
-
เมล็ดพืชตามธรรมชาติ
รูปแบบและลวดลายในการทำสร้อยข้อมือนั้นก็มีมากมายหลายแบบเลย โดยเราก็ทำตามแบบที่มี ซึ่งด้วยความเชี่ยวชาญของทีมเรา ผลก็คือเราทำเสร็จไปคนละ 1 อัน แต่คุณแม่และน้องสาวของคุณโยฮันทำเสร็จไปคนละ 2 อันแบบชิวๆ และแน่นอนว่าผู้ที่เชี่ยวชาญในการเย็บปักถักร้อยสุดๆ แบบผมก็ขอถอนตัวตั้งแต่เนิ่นๆ และยืนเก็บภาพต่างๆ แทน ซึ่งมันก็ทำให้ผมได้สังเกตชุดชาวเขาเผ่าอาข่าอย่างขัดๆ และพบว่าหลายๆ จุดมันน่าสนใจมาก โดยเฉพาะการใช้เหรียญบาทในสมัยก่อนมาเป็นส่วนหนึ่งในการตกแต่งชุดของเค้าครับ
และนี่ก็เป็นกิจกรรมสุดท้ายที่เราได้ทำที่หมู่บ้านหล่อโย แต่ภารกิจทริปนี้ของเรากับ Local Alike ยังไม่จบ เพราะเรายังต้องไปสัมผัสอีกหลายแง่มุมในเชียงราย ดังนั้นหลังจากที่เราออกจากหมู่บ้านหล่อโยเป้าหมายแรกที่เราไปก็คือ “ผิงผิงโภชนา” ร้านอาหารจีนยูนานบนดอยแม่สลอง เพราะโบราณเค้าว่าไว้กองทัพต้องเดินด้วยท้อง เราจะไปอีกตั้งหลายที่เราจึงต้องกินให้อิ่มก่อน ><
เมนูมื้อนี้ที่เราสั่งก็ได้แก่
-
ขาหมู
-
หมั่นโถว
-
ยำใบชาสด
-
หมูน้ำค้าง
-
เห็ดหอมอบซีอิ๊ว
-
ผัดปวยเล้ง
นั่งรอไม่นานอาหารก็มาเสิร์ฟครบ ตัวหมั่นโถวนั้นมาหลายสี หลายรสเลย ส่วนขาหมูนั้นมาขาใหญ่มากกกกก เนื้อเยอะสุดๆ เยอะจนเราต้องสั่งหมั่นโถวมาเพิ่มเลย สำหรับรสชาติอาหารของมื้อนี้ต้องบอกว่าเป็นอีกมื้อที่ถูกปากผมมาก และถ้ามีโอกาสผ่านมาแถวนี้ก็คงจะแวะมากินอีก แต่ทั้งนี้ต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่าหมูน้ำค้างนั้นค่อนข้างแข็งนิดนึง ส่วนยำใบชาสดนั้นเผ็ดมากกกกก คาดว่าเค้าใส่พริกลงไปซักครึ่งกิโลได้ครับ @_@
ระหว่างที่นั่งกินข้าวกัน เราก็ถามคุณโยฮันว่าแถวนี้มีที่เที่ยวอะไรเด่นๆ บ้าง ซึ่งก็ได้รายชื่อมาว่ามีสุสานนายพลต้วน, ไร่ชาฉุยฟง, ไร่ชา 101 แล้วก็วัดพระธาตุสันติคีรี หลังจากที่พวกเราปรึกษากันซักพัก ก็ตัดสินใจว่าจะแวะไปที่ไร่ชา 101 เพื่อดูว่าแดดร้อนๆ กลางหัวเปรี้ยงๆ แบบนี้ ไร่ชามันจะสวยงามขนาดไหน @_@
เรานั่งรถจากร้านผิงผิงโภชนาไม่นานก็ถึงไร่ชา 101 ซึ่งเราสามารถเดินไปถ่ายรูปเล่นได้ตามใจชอบเลย ขอเพียงอย่าไปเด็ดใบชา หรือไปทำลายแปลงเค้าเท่านั้น ส่วนใครที่ไม่อยากออกไปเดินกลางแดดร้อนๆ ก็สามารถแวะไปกินชาได้ เค้ามีให้ชิมและจำหน่ายหลายอย่างเลย
จบจากไร่ชา 101 เรามุ่งตรงต่อไปยังบ้านดอยดินแดง ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตและจำหน่ายงานเซรามิคของ อ. สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินเซรามิคชาวเชียงราย ที่ได้มาสร้างงานปั้นดินให้กลายเป็นงานศิลปะ โดยบ้านดอยดินแดงแห่งนี้เริ่มต้นจากที่อาจารย์เรียนจบจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตภาคพายัพ และไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นในด้านเซรามิคกับอาจารย์ Twao Onuma และ Tarouemon Nakagato เป็นระยะเวลานานถึง 5 ปี จากนั้นจึงได้กลับมาตั้งหลักปักฐานที่เชียงราย เพื่อทำความฝันและผลิตงานเครื่องเคลือบดินเผาที่อาจารย์รัก
สำหรับบรรยากาศทั่วไปของบ้านดอยดินแดงนั้นสงบ ร่มรื่นดีครับ มีอาคารที่เอาไว้จำหน่ายสินค้า และก็ทำงานในส่วนต่างๆ เช่น เตรียมดิน ขึ้นรูป เตาเผา แล้วก็ร้านกาแฟ ซึ่งหลายๆ อาคารนั้นก็มีการเอางานเซรามิคมาประกอบตกแต่งด้วย
การเข้าชมบ้านดอยดินแดงในครั้งนี้ เราได้คุณดอนนี่ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์สมลักษณ์เป็นผู้พาชม ดังนั้นเราก็เลยได้ข้อมูลอะไรที่เป็นเชิงลึกมาก เช่น
-
การปั้นงานเซรามิคของที่นี่จะใช้มือปั้นทั้งหมด ซึ่งมันทำให้งานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่สามารถเลียนแบบได้ เพราะจะมีลายนิ้วมือไปอยู่ในชิ้นงานด้วย
-
ดินแต่ละชนิดจะมีแร่ธาตุและสีไม่เหมือนกัน สำหรับดินที่บ้านดอยดินแดงใช้นั้น ต้องไปเอามาจาก 3 ที่รวมกันได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย และลำปาง เพื่อให้สีและสมบัติที่ตรงใจที่สุด
-
สีที่ใช้ในการทำงานจะเป็นสีจากธรรมชาติทั้งหมด ไม่มีการใช้เคมีเลย อย่างเช่น สีเหลืองจะมาจากใบไม้แห้ง ส่วนสีฟ้าจะมาจากต้นไผ่
-
การปั้นงานบางชิ้นต้องใช้เวลาทำนานมาก ผ่านการทิ้งให้แห้ง เผา ลงสี เคลือบหลายขั้นตอน และบางงานจะทำงานได้เพียงปีละครั้ง อย่างเช่นโอ่งขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เวลาในการทำงานนานถึง 4 ปี จึงจะเสร็จเพราะหากไม่ได้ทำในช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม ความแข็งแรงและความสวยงามก็จะไม่ได้ตามที่ต้องการ
และด้วยความที่มันทำมือทั้งหมด รวมทั้งมีความยากลำบากในหลายขั้นตอน ดังนั้นราคาของมันจึงค่อนข้างสูงนิดนึง อย่างเช่นแจกันขนาดทั่วๆ ไปจะอยู่ที่ 1,000 – 2,000 บาทต่ออัน ส่วนโอ่งขนาดใหญ่ที่ใช้เวลาทำนานถึง 4 ปีนั้นน จะอยู่ที่ 80,000 บาทต่อใบ ซึ่งพวกนี้ต้องอยู่ที่ความชอบ ความพอใจของแต่ละบุคคลแล้ว เนื่องจากงานเซรามิคทำมือนั้นเป็นอะไรที่มีเสน่ห์ในแบบที่เลียนแบบได้ยากครับ
จบจากบ้านดอยดินแดงราวๆ 16.00 น. ผมและทาง Local Alike ก็ตรงดิ่งไปยังสวรรค์บนดินฟาร์ม แอนด์ โฮมสเตย์ ซึ่งไม่ต้องถามเรื่องเส้นทางนะครับ ผมรู้แต่ว่าผมหลับไปเกือบชั่วโมงได้ ตื่นมาอีกทีก็อยู่ที่ทางเข้าและต้องเตรียมลงจากรถแล้ว @_@
ทันทีที่ผมลงจากรถ จมูกของผมก็ได้กลิ่นหอมๆ ของเตยทันที และสายตาผมก็มองเห็นสวนพืชเล็กๆ พร้อมกับอาคารชั้นเดียวน่ารักๆ อยู่ 2-3 อาคาร โดยหนึ่งในอาคารนั้นก็คือสถานที่จำหน่ายกาแฟและชานั่นเอง
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่าว่าสวรรค์บนดินฟาร์ม แอนด์ โฮมสเตย์คืออะไร? สวรรค์บนดินฟาร์ม แอนด์ โฮมสเตย์ก็คือบ้านที่ชายหนุ่มคนนึงที่ชื่อโต ซึ่งเดิมทีเป็นคนเชียงรายนี่แหละ แต่ต่อมาครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ที่กทม. จนคุณโตเรียนจบและได้ทำงานเกี่ยวกับการถ่ายรูป ต่อมาคุณพ่อของคุณโตป่วยเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมองทำให้ร่างกายชา ไม่สามารถเดินเหินได้ คุณโตและคุณแม่จึงตัดสินใจพาคุณพ่อย้อนกลับมายังที่ผืนเดิมที่เคยเกิด และเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการทำกาแฟ ชา จากนั้นจึงทำการปลูกพืชประเภทต่างๆ เพื่อนำมาสกัดเป็นชาที่มาจากธรรมชาติ เช่น เก๊กฮวย, อัญชัน, กระเจี๊ยบ, ตะไคร้, มะตูม และก็ได้เริ่มขยายพื้นที่บางส่วนออกเป็นโฮมเสตย์ โดยปัจจุบันมีห้องให้พักอยู่ทั้งหมด 4 ห้องด้วยกัน เป็นห้องขนาดเล็กๆ กะทัดรัด และบริเวณหน้าห้องก็จะมีพวกเครื่องปั้นดินเผา งานเซรามิคต่างๆ ที่คุณโตชอบทำเป็นงานอดิเรกวางตั้งไว้อยู่
และด้วยความที่บริเวณนี้อากาศดี อยู่ติดแหล่งน้ำธรรมชาติ และการที่คุณโตได้ให้ความสำคัญ ให้ความใส่ใจในการปลูกต้นไม้ ปลูกผัก และปลูกสมุนไพรอย่างจริงจัง ทำให้เค้าเรียนรู้ว่าอะไรที่จะสามารถช่วยรักษาพ่อของเค้าได้ และก็ใช้เวลาเพียงไม่นาน คุณพ่อของคุณโตก็มีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน เริ่มเดินได้ พูดได้ตามปกติ และปัจจุบันนี้ในทุกๆ เช้าคุณพ่อของคุณโตก็ได้มาช่วยเก็บดอกอัญชัน และพืชผักต่างๆ อยู่เสมอๆ
ระหว่างที่ผมได้มีโอกาสฟังคุณโตเล่าถึงเรื่องราวของเค้า สาเหตุที่เค้ากลับมาที่บ้าน การเลือกดำเนินชีวิตแบบใหม่ และความมหัศจรรย์ของสมุนไพรที่ช่วยรักษาคุณพ่อของเค้าให้ดีขึ้น ผมก็ได้ทานของอร่อยๆ ไปเยอะมาก ตั้งแต่ขนมปังธัญพืช, ชาอัญชัน, ชาเก๊กฮวย ไปจนถึงสุดยอดเครื่องดื่มอย่างอัญชันลาเต้ ซึ่งแก้วหลังสุดนี่มันหอม หวาน มัน อร่อยมากกกก ทุกคนที่ไปวันนั้นเอ่ยปากชมเป็นเสียงเดียวกันเลย ส่วนผมนี่ถึงขั้นอยากซื้อสูตรแล้วกลับมาเปิดร้านขายที่กทม. เลยทีเดียว เพราะมันอร่อยจริงจัง เอาเป็นว่าใครได้ไปที่นี่ต้องลองให้ได้ครับ!
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สับสนและมึนงง ตัวชาของที่นี่นั้นเป็นชา infusion นะครับ คือเป็นสมุนไพรตามธรรมชาติที่นำมาสกัดเป็นผงและอยู่ในรูปแบบซอง แต่ไม่ได้มีส่วนผสมของชา ใครที่มีโอกาสได้ลองแวะเข้าไปชิม หากชอบใจก็สามารถซื้อกลับมาชงกินที่บ้านได้ครับ
หลังจากที่ผมและเพื่อนๆ ได้ร่วมพูดคุยประเด็นต่างๆ กับคุณโตจนถึงประมาณ 18.00 น. มันก็ถึงเวลาที่เราต้องเดินทางกลับกทม.กันแล้ว โดยกลุ่มของเราได้ไปรวมตัวกันกินอาหารพื้นเมืองเชียงรายเป็นการส่งท้าย จากนั้นก็เดินทางไปขึ้นเครื่องที่สนามบินแม่ฟ้าหลวงตอนประมาณ 22.00 และกลับถึงกทม. ประมาณ 23.00 น. ซึ่งเรียกว่าเป็นการเดินทางตลอด 2 วัน 1 คืนที่ทรหดมากและทำเอาคณะของเราแทบหมดสภาพกันเลย แต่เชื่อมั้ยครับถึงแม้ผมและเพื่อนๆ จะเหนื่อยและหมดสภาพเพียงใด แต่เรารับรู้กันได้ด้วยตา รับรู้ด้วยการพูดคุยว่า 2 วัน 1 คืน กับการเดินทางไปกับ Local Alike เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าอาข่าและอีกหลายแง่มุมในเชียงรายนั้น มันเป็นอะไรที่เราประทับใจมากๆ และเราหวังว่าเราจะได้กลับไปเที่ยวแบบนี้อีกครั้งในระยะเวลาอันใกล้นี้ครับ
ก็จบลงแล้วสำหรับการเดินทางของผมในครั้งนี้ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านจนจบ แล้วพบกันใหม่ในรีวิวหน้าครับ สำหรับผู้ที่ต้องการติดตามเรื่องราวการรีวิวต่างๆ ที่รวดเร็วทันใจ สามารถกดติดตามได้ที่เพจ ภรรยาหา สามีใช้ และสำหรับท่านที่อยากจะได้ข้อมูลของการท่องเที่ยวแบบนี้เพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูข้อมูลหรือจองที่พักราคาพิเศษตามลิงก์ด้านล่างได้เลยครับ
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผมในวันที่ไปใช้บริการเท่านั้นครับ แต่ละท่านที่ได้มีโอกาสไปใช้บริการอาจจะได้รับการบริการที่แตกต่างจากนี้ออกไป