Home Travel พิพิธบางลำพู : หวนคืนสู่วันวาน กับตำนานต้นลำพูต้นสุดท้าย

พิพิธบางลำพู : หวนคืนสู่วันวาน กับตำนานต้นลำพูต้นสุดท้าย

“พิพิธบางลำพู” …… ชื่อนี้น่าจะทำให้หลายคนสงสัย อะไรคือพิพิธ? พิพิธกับพิพิธภัณฑ์ต่างกันอย่างไร? แล้วพิพิธบางลำพูนี่อยู่ตรงไหน? มีอะไรให้ดูบ้าง?

ไม่เป็นไรครับ สำหรับใครที่ยังไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อของพิพิธบางลำพูมาก่อน วันนี้ค่อยๆ มาเดินตามผมไปนะครับ รับรองว่าเมื่อจบวันแล้ว คุณจะรู้จักที่นี่อย่างแจ่มแจ้งและอยากจะออกไปทำความรู้จักกับเค้าด้วยตากับประสาทสัมผัสต่างๆ ของคุณเองเลยครับ โดยก่อนอื่นเลยว่าผมจะพาทุกคนไปเริ่มต้นกันที่คำว่า “บางลำพู” ก่อน ไปดูกันเลยว่าคำนี้มันคืออะไรครับ

“บางลำพู” คือหนึ่งย่านเก่าแก่ที่ในอยู่เขตกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในอดีตที่นี่ถือเป็นแหล่งที่มีงานช่างฝีมืออันประณีตงดงามอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งเครื่องทอง เครื่องถม และยังเป็นย่านตลาดสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพอีกด้วย นอกจากนี้ในบริเวณดังกล่าวยังอุดมไปด้วยต้นลำพูเป็นจำนวนมาก จนทำให้คลองรอบกรุงที่ถูกขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ในบริเวณนี้มีชื่อว่าคลองบางลำพู หรือแม้กระทั่งวัดสังเวชวิศยารามที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนั้นก็มีชื่อเดิมว่าวัดบางลำพูมาก่อนครับ

Disclosure : บทความนี้เป็นบทความที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้บริการใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ในปัจจุบันนี้ภาพเก่าๆ เหล่านั้นก็ได้เริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา และเริ่มถูกแทนที่ด้วยห้างร้านสมัยใหม่ จนถึงเทคโนโลยีต่างๆ จนทำให้หลายคนที่พึ่งรู้จักย่านนี้ถึงกับจินตนาการภาพย่านบางลำพูเมื่อประมาณ 100 กว่าปีก่อนไม่ออกเลย และแน่นอนว่าแม้กระทั่งต้นลำพูที่เคยมีมากมายในย่านนี้ก็ได้ล้มตายไปจนหมด โดยต้นลำพูต้นสุดท้ายที่มีอายุ 118 ปีนั้นก็ได้ยืนต้นตายเพราะเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปีพ.ศ. 2554 และถูกตัดจนเหลือแต่ตอในวันที่ 6 กรกฎาคม 2555 ครับ

.

.

.

และทั้งหมดนี้ก็คือสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดพิพิธบางลำพู โดย กรมธนารักษ์ ขึ้นมาครับ

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพประกอบต้นลำพูต้นสุดท้ายจาก internet โดยในปัจจุบันนี้ย่านบางลำพูได้เริ่มมีการปลูกต้นลำพูต้นใหม่ขึ้นมาในบริเวณสวนสันติชัยปราการเพื่อทำให้ภาพในอดีตกลับคืนมาแล้วครับ

พิพิธบางลำพู โดยกรมธนารักษ์นั้น ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชนบางลำพูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และยังเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงการศึกษาวัฒนธรรมชุมชน เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตและสภาพในอดีตของชุมชนบางลำพูเมื่อร้อยกว่าปีก่อน โดยพิพิธบางลำพูตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่เศษๆ ใกล้กับป้อมพระสุเมรุและสวนสันติชัยปราการครับ ใครที่มาสองสถานที่นี้ถูกก็จะมองเห็นพิพิธบางลำพูได้อย่างชัดเจนแน่นอน

สำหรับพื้นที่ของพิพิธบางลำพูในอดีตนั้นจะเป็นบ้านของพระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร หรือ เอม ณ มหาไชย อธิบดีกรมการคลัง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 กระทรวงพาณิชย์ได้ขอใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่เก็บหนังสือ, บัญชี, สิ่งของของห้างเยอรมันและออสเตรีย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2468 กรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ขอใช้พื้นที่นี้เป็นร้านกลางสำหรับการจำหน่ายแบบเรียน ทำให้เกิดการรื้อและซ่อมแซมอาคารเดิม ปรับปรุงอาคารด้านริมถนนพระสุเมรุเป็นโรงพิมพ์ชั้นเดียว มีการสั่งซื้อเครื่องพิมพ์มาจัดพิมพ์แบบเรียนเลข, ภูมิศาสตร์ และภาษาอังกฤษ และต่อมาในปี พ.ศ. 2471 อาคารก็ได้เกิดการชำรุดจึงได้ทำการซ่อมแซมปรับปรุงอีกครั้ง โดยรองอำมาตย์เอกหลวงไมตรีวานิช ได้รับพระบรมราชานุญาตให้รื้อกำแพงพระนครที่ติดกับโรงพิมพ์ออก แล้วก็ทำการปรับปรุงเรือนไม้ริมคลองที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก เพื่อใช้เป็นที่เก็บกระดาษครับ

และเมื่อปี พ.ศ. 2475 กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ดำเนินการเปิดโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช เป็นโรงเรียนสอนวิชาการพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทยขึ้นมาในบริเวณดังกล่าว โดยรับนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 เข้ามาเรียนตามหลักสูตรเป็นเวลา 3 ปี และมีการสร้างอาคารด้านหน้าที่ติดกับถนนพระสุเมรุเป็นอาคารคอนกรีตรูปตัวแอล (L) ที่มีลักษณะเรียบง่าย บันไดภายในและพื้นเป็นไม้ รวมทั้งยังมีอาคารเรือนไม้ 2 ชั้นที่อยู่ติดกับคลองบางลำพู และมีการสร้างซุ้มประตูคอนกรีตตรงมุมใกล้กับปากซอยวัดสังเวชครับ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2489 โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชก็ได้หยุดการสอนลงเนื่องจากมีนักเรียนเหลือน้อย และมีภาระการจ้างครูรวมถึงภาระอื่นๆ อีกมากมาย คณะกรรมการควบคุมและดำเนินการองค์การค้าคุรุสภา จึงได้มีมติให้เปลี่ยนสถานที่เดิมจากที่เคยเป็นทั้งโรงเรียนและโรงพิมพ์ กลายมาเป็นโรงพิมพ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และได้ทำการเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “โรงพิมพ์คุรุสภา” แทนในปี พ.ศ. 2493 ซึ่งโรงพิมพ์คุรุสภาแห่งนี้ก็ได้รับงานพิมพ์ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการกับหน่วยงานราชการอื่นๆ มากมาย จนต้องขยับขยายไปสร้างโรงพิมพ์แห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าที่ถนนลาดพร้าว และให้พื้นที่นี้กลายเป็นคลังสินค้าเท่านั้นจนกระทั่งหมดสัญญาเช่า

หลังจากที่พื้นที่นี้ได้หมดสัญญาเช่าก็ได้กลายเป็นพื้นที่ร้างเป็นเวลานาน และก็เกิดการรื้อถอนอาคารออกไปในช่วงที่มีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อเตรียมจะไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไป แต่ด้วยความที่คนท้องถิ่นย่านบางลำพูได้เห็นคุณค่าของพื้นที่แห่งนี้ รวมทั้งเห็นคุณค่าของอาคารเก่าที่ถูกปลูกสร้างมาเป็นระยะเวลานาน จึงได้ดำเนินการเรียกร้องให้ยุติการรื้อถอนและขออนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าวไว้ จนกระทั่งในที่สุดกรมศิลปากรก็ได้ประกาศให้โรงพิมพ์คุรุสภาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และกรมธนารักษ์ ในกระทรวงการคลังก็ได้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่ที่ราชพัสดุแห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ “พิพิธบางลำพู” ในปี พ.ศ. 2555 ครับ

ส่วนสาเหตุที่สถานที่นี้ใช้ชื่อว่าพิพิธบางลำพู แทนที่จะเป็นพิพิธภัณฑ์บางลำพูนั้น เพราะคำว่าภัณฑ์แปลว่า สิ่งของเครื่องใช้ แต่ในพิพิธบางลำพูนั้น จะเน้นนำเสนอถึงเรื่องราวของความหลากหลายของชุมชนบางลำพูและวิถีชีวิตมากกว่าการเน้นจัดแสดงสิ่งของครับ ทางกรมธนารักษ์ก็เลยใช้ชื่อเรียกว่าพิพิธแทน

เอาล่ะ เกริ่นมาซะยาวนานเลย ตอนนี้หลายๆ คนก็คงจะรู้ความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้กันพอควรแล้ว เดี๋ยวเราเข้าไปดูข้างในกันต่อเลยว่า ในอาคารของพิพิธบางลำพูนั้นจะมีการจัดแสดงหรือเล่าเรื่องอะไรให้เราตื่นตาตื่นใจกันบ้างครับ

โดยหลังจากที่เราก้าวผ่านประตูทางเข้าพิพิธบางลำพูที่อยู่ข้างๆ กับป้อมพระสุเมรุมา เราก็จะเห็นสนามหญ้าเขียวขจีแล้วก็อาคารอีกสองหลัง โดยอาคารหลังแรกทางขวามือจะเป็นอาคารปูน 2 ชั้นรูปตัวแอล ส่วนอาคารหลังที่สองจะเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ตั้งอยู่ริมคลองบางลำพูครับ

สำหรับการเดินทางมายังสถานที่นี้นั้น เราสามารถมาได้ทั้งรถสาธารณะแล้วก็รถส่วนตัวเลยครับ เพียงแต่หากใครที่ขับรถส่วนตัวมาเองนั้นก็อาจจะต้องทำใจในเรื่องที่จอดรถนิดนึง เพราะภายในพิพิธบางลำพูจะมีที่จอดรถเพียงประมาณ 7-8 คันเท่านั้น แถมเวลาที่คนจอดเยอะๆ ก็จะเข้าออกยากหน่อยครับ

ส่วนเวลาในการเปิดปิดของที่นี่รวมถึงค่าเข้าก็ตามนี้เลยครับ

เวลาเปิดปิด : 10.00 – 18.00 น. (รอบบรรยายรอบสุดท้ายคือ 16.00 น.)

วันที่เปิดบริการ : วันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์)

ค่าเข้าชม : ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

ระยะเวลาที่เหมาะสมในการมาเยี่ยมชม : 1.30 – 2 ชั่วโมง

โดยหลังจากที่เราก้าวเท้าเข้ามาในอาคารปูนรูปตัว L แล้ว เราก็จะเจอกับเคาน์เตอร์ที่สวยงามแบบนี้อยู่ ที่เคาน์เตอร์นี้จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลเราว่าการชมพิพิธบางลำพูนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ชั้นด้วยกัน โดยชั้นล่างทุกคนจะสามารถเดินชมได้ด้วยตัวเองจนกระทั่งถึงเวลาปิดตอน 18.00 น. ส่วนชั้นบนของพิพิธบางลำพูนั้นจะมีเจ้าหน้าที่พาชมเป็นรอบ รอบนึงใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง มีรอบทุกๆ 30 นาที ไม่มีการจำกัดจำนวนคนต่อรอบ แต่รอบสุดท้ายของการนำชมคือเวลา 16.00 น. ดังนั้นหากใครที่มาหลังจากนั้นก็จะไม่สามารถเข้าชมที่ชั้นบนได้แล้วครับ

ใครที่ไปถึงแล้วก็เช็คเวลาของรอบต่อไปให้ดีๆ นะครับว่ากี่โมง จะได้ไม่พลาดรอบไป เพราะที่ชั้นล่างของพิพิธบางลำพูนั้นเราจะกลับมาดูตอนไหนก็ได้ อีกทั้งเนื้อหาก็ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับด้านบนด้วย โดยเนื้อหาในชั้นล่างนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ เอกองค์บรมราชินี และ ป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับ เอกองค์บรมราชินี” จะเป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคล 82 พรรษา ซึ่งนิทรรศการในส่วนนี้จะเป็นนิทรรศการหมุนเวียนที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปเรื่อยๆ ครับ

ส่วน ป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” จะเล่าถึงความเป็นมาเมื่อแรกเริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์รวมทั้งการขุดคลองรอบกรุง, บทบาทของป้อมปราการทั้ง 14 ป้อมรอบเกาะรัตนโกสินทร์, บทบาทของประตูเมืองที่มีความสำคัญกับผู้คนในอดีต รวมไปถึงกำแพงแห่งธานีที่มีการจำลองกำแพงพระนครรวมทั้งเกร็ดความรู้สำคัญต่างๆ มาให้เราดูครับ

ใครที่สนใจเรื่องราวเหล่านี้ผมว่าสามารถอยู่ที่ห้องนี้ได้เป็นชั่วโมงเลยครับ

ที่ชั้นหนึ่งของอาคารนี้จะมีห้องน้ำให้เราเข้าด้วยนะครับ ใครที่จะเดินชั้น 2 ต่อ ผมแนะนำให้เข้าให้เรียบร้อยเลย เพราะทางเจ้าหน้าที่จะพาเราเดิมชมยาวๆ เกือบหนึ่งชั่วโมง ไม่มีการแวะพักใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนใครที่มีสัมภาระไปด้วยและไม่อยากจะเดินถือไปชมด้วย ก็สามารถติดต่อขอกุญแจล็อคเกอร์กับทางเจ้าหน้าที่ได้เลย เค้าจะมีบริการให้ฟรีครับ

เอาล่ะ คราวนี้เราก็เดินไปชมชั้น 2 กันต่อเลยนะครับ โดยทางพิพิธบางลำพูจะมีการแบ่งออกเป็น 2 นิทรรศการใหญ่ๆ คือ นิทรรศการกรมธนารักษ์ และนิทรรศการชุมชนบางลำพู โดยแต่ละนิทรรศการจะมีการแบ่งเป็นห้องๆ เล่าเป็นเรื่องราวไปเรื่อยๆ เริ่มจากห้องแรกของ นิทรรศการกรมธนารักษ์” ที่ซึ่งจะเล่าว่ากรมธนารักษ์ ในกรมพระคลังมหาสมบัตินั้นเป็นใคร และภารกิจหลักทั้ง 5 ด้านของกรมธนารักษ์นั้นคืออะไรบ้าง

ซึ่งที่นี่แหละครับที่จะทำให้เราได้รู้ว่าภารกิจทั้ง 5 ด้านของกรมธนารักษ์นั้นประกอบไปด้วย

  1. งานด้านบริหารที่ราชพัสดุดำเนินการปกครองดูแลรักษาจัดให้ใช้ประโยชน์และทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ราชพัสดุให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาครัฐ

  2. งานด้านผลิตเหรียญกษาปณ์และของสั่งจ้าง ดำเนินการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนตั้งแต่ชนิดราคา 10 บาท ลงมาจนถึง 1 สตางค์ รวมทั้งผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึกเนื่องในวโรกาสและโอกาสสำคัญต่าง ๆ ตลอดจนการจัดสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จัดทำเครื่องหมายตอบแทนและของสั่งจ้างต่างๆ ที่หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชนสั่งจ้าง ทำการยุบหลอมทำลายและล้างตัวเหรียญกษาปณ์ ตลอดจนติดตั้ง ตรวจสอบ ซ่อมแซมประตูห้องมั่นคงและจัดทำซ่อมแซมกุญแจตู้นิรภัยของส่วนราชการ

  3. งานด้านบริหารเงินตราดำเนินการควบคุมการรับ-จ่ายแลก และเก็บรักษาเหรียญกษาปณ์ การเบิก-ส่งเงินคงคลังของจังหวัด การควบคุมยอดเงินฝากของรัฐที่ธนาคารแห่งประเทศไทย รับเช็คเงินผลประโยชน์รายได้ของรัฐ ตรวจพิสูจน์เหรียญกษาปณ์

  4. งานด้านทรัพย์สินอันมีค่าของแผ่นดินดำเนินการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ เก็บรักษา จัดแสดงและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเงินตรา เหรียญที่ระลึก เครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และทรัพย์สินอันมีค่าของแผ่นดิน รวมทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการสะสมเหรียญกษาปณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

  5. งานด้านประเมินราคาทรัพย์สินดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดราคาประเมินและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในการกำหนดราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอื่นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนาระบบการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นที่ยอมรับ เชื่อถือได้ และเป็นมาตรฐานสากล

โอ้โห บอกตามตรงครับ ผมก็พึ่งจะรู้วันนี้นี่แหละครับว่ากรมธนารักษ์นั้นมีภารกิจหน้าที่อีกหลายอย่างมากนอกเหนือไปจากการผลิตเหรียญกษาปณ์ @_@ และด้วยภารกิจหลักใน 5 ข้อนี่แหละครับจึงเป็นสาเหตุให้กรมธนารักษ์ได้เข้ามาดูแลที่ดินของโรงพิมพ์คุรุสภาเดิมและพัฒนาปรับปรุงจนกลายมาเป็นพิพิธบางลำพูในแบบทุกวันนี้

และแน่นอนว่านิทรรศการในส่วนนี้นอกจากจะพูดถึงภารกิจทั้ง 5 ด้านให้เรารู้จักกันแล้ว เค้ายังมีการลงรายละเอียดในด้านต่างๆ ให้เรารู้เพิ่มเติมอีกด้วย เช่น เหรียญกษาปณ์นั้นมีกี่ประเภท, เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกคืออะไร, แม่แบบเหรียญกษาปณ์นั้นหน้าตาเป็นแบบไหนและมีขนาดใหญ่เท่าไหร่, วิธีการผลิตเหรียญกษาปณ์นั้นทำอย่างไร, สถิติการใช้เหรียญของคนไทยมีมากน้อยแค่ไหน, ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินคืออะไร, วิธีการดูแลทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินต้องทำแบบไหนและใช้เครื่องมืออะไรบ้าง ตลอดจนพูดถึงเรื่องการประเมินราคาที่ดิน, อสังหาริมทรัพย์ และการบริหารพื้นที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ

ผมบอกเลยครับว่าใครที่สนใจเรื่องราวเหล่านี้ควรจะตั้งใจฟังเจ้าหน้าที่บรรยายให้ดีๆ มันมีเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจเยอะมาก และผมแนะนำให้ทุกคนไปยืนด้านหน้าใกล้ๆ กับเจ้าหน้าที่เลยครับ เพราะเสียงไมโครโฟนของเค้าค่อนข้างเบา ฟังไม่ค่อยชัด หากใครยืนอยู่ไกลก็จะทำให้ได้รับข้อมูลไม่เต็มที่ครับ

ภาพชุดแรกนี้จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเหรียญกษาปณ์ครับ มีหลายเรื่องมากที่ผมพึ่งจะรู้ และหลายเรื่องที่ผมพึ่งรู้นั้นก็ทำให้ผมแอบทึ่งไปเบาๆ เลย

ส่วนภาพชุดนี้จะเป็นเรื่องราวของทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ตั้งแต่การอธิบายว่าทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินคืออะไร จนไปถึงเรื่องราวของการดูแลรักษาครับ

ส่วนนี่คือพื้นที่ในส่วนที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ราชพัสดุ ทั้งเรื่องการวัดที่ดิน, การประเมินราคาที่ดิน และการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยภายในห้องนี้จะมีโมเดลขนาดใหญ่ตั้งอยู่ โมเดลนี้จะมีการแบ่งแยกเป็นสีต่างๆ ไว้ โดยแต่ละสีก็จะมีราคาประเมินที่ไม่เท่ากันครับ

และในส่วนที่ผมเล่ามาข้างต้นนั้นก็จะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับนิทรรศการกรมธนารักษ์ทั้งหมดครับ โดยในส่วนนี้จะอยู่ที่ชั้น 2 ของอาคารปูนรูปตัว L ซึ่งเมื่อเราชมในส่วนนี้เสร็จทางเจ้าหน้าที่จะพาเราเดินต่อไปยังชั้น 2 ของอาคารไม้เพื่อไปชม นิทรรศการชุมชนบางลำพู” ต่อ โดยเราจะต้องเดินผ่านทางเชื่อมระหว่างตึกที่สามารถมองเห็นคลองรอบกรุงที่ถูกขุดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ และนี่จะเป็นอีกจุดนึงที่ทางเจ้าหน้าที่จะเล่าข้อมูลดีๆ ให้เราฟังครับ

หลังจากที่เราเดินเข้ามาที่ชั้น 2 ของอาคารไม้แล้ว เราก็จะได้เริ่มต้นการดูนิทรรศการชุมชนบางลำพูอย่างเป็นทางการ ซึ่งคราวนี้เราจะได้ย้อนอดีตกลับไปดูบางลำพูในสมัย 100 กว่าปีก่อน ซึ่งผมว่าทางกรมธนารักษ์เค้าทำออกมาได้ดีมากๆ เลยในเรื่องของการนำเสนอและจัดแสดงในรูปแบบต่างๆ ผ่านสื่อที่ทันสมัยตั้งแต่ 2 ห้องแรก สีสันบางลำพู” และ เบาะแสจากริมคลอง” ที่เล่าถึงความหลากหลายของบางลำพู และการเริ่มต้นค้นหาขุมทรัพย์บางลำพูผ่านการแนะนำของคุณลุงที่ใช้ชีวิตอยู่ในสมัยนั้น มันเป็นการจัดแสดงที่ทำให้ผมต้องแอบทึ่งเบาๆ ในใจเลยว่าเยี่ยมมากครับ

และยิ่งเมื่อผมได้ก้าวเข้ามาในห้องที่สาม พระนครเซ็นเตอร์” ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าภายในอาคารไม้ที่เรามองเห็นจากภายนอกว่าเล็กๆ แคบๆ นั้น กลับจัดสรรพื้นที่ภายในอาคารที่มีอยู่อย่างจำกัดมาแสดงสิ่งต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจมาก ทั้งการจำลองสะพานสะพานนรรัตน์สถาน หนึ่งในสะพานเหล็กโค้งเพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทยที่ออกแบบมาได้อย่างดี ทำให้เรือสามารถลอดผ่านด้านล่างไปได้อย่างสบาย, การจำลองรถราง, โรงหนัง, โรงลิเก และร้านค้าที่มีชื่อเสียงในสมัยก่อนมาให้เราดู พร้อมทั้งประวัติคร่าวๆ ของแต่ละร้าน รวมไปถึงสถานภาพของร้านในปัจจุบัน โดยในยุคนั้นถือเป็นยุคที่ย่านบางลำพูเป็นย่านความบันเทิงที่เฟื่องฟูที่สุดของพระนครเลยครับ

อย่างเช่นการที่ย่านบางลำพูมีโรงหนังที่มีชื่อเสียงมากๆ อย่างโรงหนังบุศยพรรณ หรือโรงหนังตงก๊กเดิม โดยโรงหนังแห่งนี้จะตั้งอยู่ที่เชิงสะพานนรรัตน์ฝั่งเหนือ และเป็นโรงหนังที่มีการฉายหนังตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน โดยราคาตั๋วแบบนั่งเก้าอี้จะอยู่ที่ 2 บาท/คน ส่วนราคานั่งพื้นจะอยู่ที่ 1 บาท/คน ส่วนสถานภาพในปัจจุบันนี้ของโรงหนังแห่งนี้ก็คือเลิกกิจการไปแล้วจากเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อปี พ.ศ. 2524 และได้มีการนำพื้นที่ไปทำเป็นเกสต์เฮ้าส์แทนครับ

ส่วนนี่ก็คือคณะลิเกหอมหวล คณะลิเกชื่อดังในย่านบางลำพูที่มีประวัติการแสดงมายาวนาน รวมทั้งมีชื่อเสียงโด่งดังมากจนต้องแบ่งออกเป็น 9 คณะเพื่อเปิดวิกแสดงตามที่ต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังมีลูกศิษย์ที่แยกออกไปตั้งคณะลิเกของตัวเองอีกถึง 35 คณะ และด้วยชื่อเสียงอันโด่งดังของคณะลิเกหอมหวล ทำให้คณะลิเกนี้เคยได้แสดงต่อหน้าพระพักตร์รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๙ ด้วย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่เมื่อกาลเวลาผ่านไป หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป คณะลิเกแห่งนี้ก็ได้ปิดตัวลงครับ

สำหรับใครที่ได้มีโอกาสมาเยียมชมที่ห้องนี้ ผมอยากบอกว่าอย่าพลาดที่จะเดินไปดูการจัดแสดงเรื่องราวของคณะลิเกแห่งนี้ใกล้ๆ นะครับ เพราะคุณจะเจอสิ่งที่ทางพิพิธบางลำพูจัดเซอร์ไพรส์ไว้ต้อนรับคุณอยู่ ><

ส่วนนี่ก็คือห้าง ต. เง๊กชวน ร้านขายแผ่นเสียงชื่อดังในอดีต (แผ่นเสียงตรากระต่าย) โดยในเรื่องประวัติของร้านนี้นั้นผมบอกเลยว่าไม่ธรรมดาๆ มาก ตั้งแต่สมัยที่เปิดร้านครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2465 จนกระทั่งการต้องปิดร้านเพราะเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่คนหันไปฟังเทปคาสเซ็ตมากกว่าแผ่นเสียง โดยตลอดระยะเวลาที่ร้านแห่งนี้เปิดให้บริการนั้นก็ได้เกิดเรื่องราวมากมายในวงการบันทึกเสียงของเมืองไทย รวมทั้งยังเกิดเหตุการณ์สูญเสียที่ร้ายแรงกับทางร้านเพราะเหตุจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยโรงงานผลิตแผ่นเสียงที่เยอรมันได้ถูกทำลายลง และภรรยาของคุณเตีย (เจ้าของร้าน) ก็ได้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สงครามโลกในครั้งนี้

และด้วยความที่ร้าน ต. เง๊กชวน ได้เคยทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการมากมาย เช่น บันทึกเสียงเพลงกรมศิลปากร, บันทึกเสียง เพลงปลุกใจของคุณหลวงวิจิตรฯ เป็นต้น ทางร้านจึงได้รับพระราชทานตราครุฑหลวง โดยได้รับพระบรมราชานุญาตและประดิษฐานตรานั้นไว้เหนือประตูทางเข้าร้านจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้กระทั่งตอนนี้ร้าน ต. เง๊กชวน จะถูกเปลี่ยนเป็นร้านขนมเบื้องแม่ประภาเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่ตราครุฑหลวงก็ยังคงประดิษฐานอยู่ที่เดิม ดังนั้นใครที่ได้มีโอกาสผ่านไปแถวนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจนะครับว่าทำไมร้านขายขนมเบื้องร้านนี้ถึงมีตราครุฑหลวงติดอยู่บนร้านได้ ><

หมายเหตุ : สำหรับใครที่อยากจะอ่านเรื่องราวของร้าน ต. เง๊กชวน เพิ่มเติม ก็สามารถตามไปอ่านที่ลิงก์นี้ต่อได้เลยครับ https://pantip.com/topic/34167791

ส่วนใครที่สังเกตเห็นเด็กผู้หญิงที่กำลังโก้งโค้งแอบมองอะไรผ่านรั้วสังกะสีในภาพแรกๆ นั้นก็ไม่ต้องตกใจครับ เด็กผู้หญิงคนนี้เค้าอยากดูละครร้องแม่บุนนาค แต่เค้าไม่มีเงินซื้อบัตรเข้าไปดูก็เลยต้องแอบมองผ่านรูที่รั้วแบบนี้แหละครับ โดยละครร้องแม่บุนนาค คณะนาครบรรเทิงนั้นถือเป็นอีกหนึ่งความบันเทิงที่มีชื่อเสียงมากในสมัยรัชกาลที่ ๖ และ ๗ โดยลักษณะการแสดงของละครร้องนั้นถ้าจะให้เปรียบเทียบง่ายๆ ก็จะคล้ายๆ กับละครเวทีในปัจจุบันนี้นี่แหละครับ

หลังจากที่เราดูความสนุกสนานในย่านสถานบันเทิงอย่างพระนครเซ็นเตอร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว คราวนี้เราก็จะเข้าสู่อีกห้องหนึ่งที่มีชื่อว่า ที่นี่บางลำพู” ห้องที่จัดแสดงร้านชื่อดังในย่านบางลำพูในสมัยก่อนให้เราดู ทั้งร้านกาแฟนันทิยา ที่ชั้นล่างเป็นร้านกาแฟ แต่ชั้นบนเปิดเป็นห้องพักรายวัน โดยร้านกาแฟแห่งนี้ถือเป็นสถานที่พบปะพูดคุยยอดนิยมของวัยรุ่นในยุคนั้นเลย ทั้งมากินกาแฟ มาเล่นหมากรุก หรือมานั่งพูดคุยอัพเดทเรื่องราวต่างๆ ครับ

นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดแสดงร้านชื่อดังในอดีตอีกมากมายทั้งร้านแก้วฟ้า ร้านขายรองเท้าชื่อดังยี่ห้อ Big Buffalo, ร้านเสื้อนพรัตน์ ร้านตัดเสื้อเชิ้ตร้านแรกของประเทศไทย, ภัตตาคารอั้นเฮียงเหลา และห้างหุ้นส่วนจำกัด ตั้งฮั่วเส็ง ที่มีสินค้าอย่างไหมพรมและงานเย็บปักถักร้อยจำหน่ายอยู่เต็มไปหมด

โดยในปัจจุบันร้านชื่อดังเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ได้ปิดกิจการหรือหันไปทำธุรกิจอย่างอื่นแทนหมดแล้ว อย่างเช่น ร้านเสื้อนพรัตน์ ก็ได้เปลี่ยนเป็นร้านอาหารครัวนพรัตน์แทน ก็คงจะมีแต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตั้งฮั่วเส็ง ที่ยังคงยืนหยัดอยู่ และขยายกิจการออกไปได้ใหญ่โตมโหฬารกว่าเดิมมากๆ

คราวนี้เรามาต่อกันที่ห้องที่มีชื่อว่า ย่ำตรอกบอกเรื่องเก่า” กันดีกว่า ห้องนี้จะมีการเล่าถึงของดีบางลำพูที่แอบซุกซ่อนอยู่ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ที่คนภายนอกไม่เคยรู้เลย เช่น ศิลปะการแทงหยวก, การทำแผ่นทองคำเปลวด้วยมือ, การทำเครื่องถม, การปักชุดโขน, ข้าวต้มน้ำวุ้น, บ้านดุริยประณีต, ร้านลานทอง, ร้านธงวันชาติ หรือแม้กระทั่งมัสยิดจักรพงษ์ แหล่งบ่มเพาะช่างทองหลวงของประเทศไทย

บอกเลยครับว่ารายละเอียดในห้องนี้เยอะมากๆ เยอะจนผมเสียดายที่ทางเจ้าหน้าที่ให้เวลาที่ห้องนี้น้อยไปหน่อย เพราะแม้ทางเจ้าหน้าที่จะพูดบรรยายในรายละเอียดหลายๆ อย่างเยอะพอควร แต่บางครั้งการปล่อยให้คนที่มาเข้าชมได้เดินดูรายละเอียดรอบๆ ห้องต่ออีกซักพักด้วยตัวเองก็จะช่วยให้เค้าซึมซับในรายละเอียดต่างๆ เหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้นไปอีกครับ แต่นี่ด้วยเวลาการชมต่อรอบที่จำกัดก็เลยทำให้พอเจ้าหน้าที่บรรยายจบเราก็ต้องเดินต่อไปยังห้องถัดไปทันที T_T

ภาพนี้เป็นภาพของศิลปะการแทงหยวกครับ เป็นอีกหนึ่งศิลปะที่เรียกว่าแทบจะสูญหายไปจากเมืองไทยแล้ว โดยการสลักหยวกหรือการแทงหยวกนั้น ถือเป็นงานฝีมือช่างประเภทหนึ่งที่จัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่ประเภทช่างสลักของอ่อน เป็นวิชาความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่อดีตโดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายอย่างต้นกล้วย โดยเฉพาะหยวกกล้วยตานีเพราะแตกยาก และดำช้ากว่ากล้วยชนิดอื่นๆ มาสลักเป็นลวดลายหรือเพิ่มสีสันให้มีความสวยงาม เพื่อใช้ตกแต่งในงานต่างๆ ทั้งงานพระราชพิธี, งานศพ, งานบวช, งานกฐิน โดยงานหลังสุดที่ศิลปะการแทงหยวกได้มีส่วนร่วมในงานพระราชพิธีก็คือพระราชพิธีถวายพระเพลิงบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙ ครับ

ส่วนนี่เป็นบ้านดนตรี “ดุริยประณีต” สถานที่ที่ยังคงอนุรักษ์การเล่นดนตรีไทยไว้ โดยในปัจจุบันนี้บ้านดนตรีดุริยประณีตยังคงตั้งอยู่ที่เดิมมาเป็นระยะเวลากว่า 100 ปีแล้ว และได้ทำการเปิดสอนดนตรีไทยให้กับผู้ที่สนใจในราคาเพียงเดือนละ 500 บาทเท่านั้น ใครที่สนใจก็ลองหารายละเอียดเพิ่มเติมนะครับ ผมว่าน่าสนใจและราคาไม่แพงเลย

ส่วนนี่คือร้านลานทอง ร้านที่มีการจำหน่ายของที่ผลิตจากใบลาน โดยเฉพาะหมวก เพราะในช่วงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนั้น ท่านได้มีแนวคิดที่จะยกระดับให้ประเทศไทยมีความเจริญเหมือนกับอารยประเทศ ดังนั้นก็เลยมีนโยบายต่างๆ ออกมามากมาย รวมไปถึงการให้ประชาชนสวมหมวกทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้าน และนั่นก็เลยทำให้หมวกใบลานเป็นที่นิยมในยุคนั้นครับ

ส่วนนี่เป็นเรื่องราวของชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ แหล่งชุมชนที่เป็นแหล่งบ่มเพาะช่างทองหลวงของประเทศไทย เพราะด้วยความสามารถอันลึกล้ำ, ความประณีตในการทำงาน, ลวดลายที่ละเอียด และมีความอ่อนช้อยสวยงาม ทำให้ช่างทองในตรอกสุเหร่าแห่งนี้ได้มีโอกาสเป็นช่างทองหลวงถวายงานต่างๆ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ “ป้าเล็ก ลอประยูร” ช่างทองหลวงคนสุดท้ายจากตรอกสุเหร่าบางลำพูได้เสียชีวิตลงไปเมื่อไม่นานนี้ครับ

และนี่เป็นเรื่องราวของข้าวต้มน้ำวุ้น อีกหนึ่งขนมหวานไทยที่มีชื่อเสียงและหาทานได้ยากมากๆ ในปัจจุบัน โดยข้าวต้มน้ำวุ้นนั้นมีต้นกำเนิดรูปสามเหลี่ยมมาจากบ๊ะจ่าง และมีกระบวนการทำที่พิถีพิถันมากตั้งแต่การพับใบตอง, การเข้ารูปเหลี่ยม จนไปถึงรสชาติของน้ำเชื่อมที่หวานแบบอ่อนๆ ทานแล้วรู้สึกคลายร้อนได้เป็นอย่างดี และทำให้ขนมหวานชนิดนี้กลายเป็นขนมหวานที่หลายคนประทับใจมากครับ

สำหรับใครที่สนใจอยากจะทานของหวานชนิดนี้ก็สามารถไปหาทานได้ที่ชุมชนวัดสามพระยา ใกล้ๆ กับสวนสันติไชยปราการ หรือไม่ก็มาที่พิพิธบางลำพูในวันเสาร์-อาทิตย์ก็ได้ครับ เค้าจะมีการนำข้าวต้มน้ำวุ้นจากชุมชนวัดสามพระยามาจำหน่ายในราคาชุดละ 20 บาทครับ

หลังจากที่เดินลัดเลาะตรอกซอกซอยในย่านบางลำพูจนเหนื่อยและขาเริ่มล้าแล้ว คราวนี้เราก็จะไปนั่งสบายๆ กันที่ห้องถัดไป ห้องที่ทางเจ้าหน้าที่จะเล่าถึงเรื่องราวสำคัญๆ ในย่านบางลำพูตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๙ ซึ่งมีหลายเรื่องที่ผมว่าน่าสนใจมาก โดยเฉพาะเรื่องราวของต้นลำพูต้นสุดท้ายในย่านนี้ T_T

ที่ห้องนี้จะมีภาพโปสเตอร์ที่พูดถึงเรื่องราวของบุคคลสำคัญ บุคคลที่มีชื่อเสียงของย่านบางลำพูด้วยครับ ซึ่งต้องบอกเลยว่าแต่ละคน แต่ละท่านไม่ธรรมดาจริงๆ และก็เป็นที่น่าเสียดายมากที่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้อธิบายในส่วนนี้เลยเพราะเวลาจำกัด ผมก็เลยต้องใช้การถ่ายรูปแล้วมานั่งอ่านเอาทีหลังเอง T_T

หลังจากที่เราได้ฟังถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบางลำพูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ต้นลำพูต้นสุดท้ายได้ยืนต้นตายไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 รวมไปถึงเหตุการณ์ที่ตอนแรกพื้นที่ของพิพิธบางลำพูจะถูกรื้อถอนอาคารไปทำประโยชน์อย่างอื่น จนทำให้ชาวบ้านบางลำพูรวมพลังคัดค้านจนสถานที่แห่งนี้ได้ถูกกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติและคงเหลือไว้ให้เราเห็นแบบในทุกวันนี้ ดังนั้นในห้องถัดไป ถอดรหัสลับ ขุมทรัพย์บางลำพู” จึงเป็นห้องที่พูดถึงความรักของชาวบางลำพูที่มีต่อถิ่นที่เค้าอยู่ รวมทั้งความผูกพันที่เค้ามีต่อต้นลำพูต้นสุดท้ายครับ

ห้องนี้ถือเป็นอีกห้องนึงที่ผมประทับใจมากเลยครับ เพราะที่ห้องนี้จะมีการนำส่วนหนึ่งของต้นลำพูต้นสุดท้ายของย่านบางลำพูมาเป็นส่วนหนึ่งของต้นลำพูจำลองขนาดใหญ่ด้วย ต้นไม้ที่หิ่งห้อยชอบมาแวะเวียนเปล่งแสงพูดคุยกันในช่วงเวลากลางคืน ตามบทเพลงของเฉลียงที่ว่า “หิ่งห้อยนับร้อยนับพัน ส่องแสงระยิบระยับกัน สว่างไสวไปทั้งต้นลำพู”

.

.

.

มันเป็นภาพที่เห็นแล้วสวยงาม น่าประทับใจจริงๆ ครับ

หมายเหตุ : ที่ผนังด้านนึงของห้องนี้จะมีลักษณะเป็นรูขนาดใหญ่หลายๆ รูอยู่ หากเรามองผ่านรูเหล่านั้นไป เราจะเห็นโฉมหน้าของผู้พิทักษ์บางลำพู ผู้ที่ต่อสู้ยืนหยัดเพื่อปกป้องอาคารและที่ดินของพิพิธบางลำพูด้วยนะครับ ใครที่พอมีเวลาก็อย่าลืมส่องดูนะครับ

และในที่สุดหลังจากการเดินมายาวนานร่วมหนึ่งชั่วโมง ตอนนี้พวกเราทุกคนก็เดินทางมาถึงห้องสุดท้ายแล้วกับห้อง มิ่งขวัญบางลำพู ห้องที่ประดิษฐาน “พระพุทธบางลำพูประชานาถ” พระพุทธรูปที่สมเด็จพระสังฆราชประทานให้กับชาวบางลำพูเพื่อเป็นมิ่งขวัญให้กับทุกคน โดยในอดีตนั้นพระพุทธบางลำพูประชานาถจะประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศ แต่ต่อมาได้มีการย้ายมาประดิษฐานที่พิพิธบางลำพู และในทุกๆ ปีในช่วงวันสงกรานต์ทางพิพิธบางลำพูก็จะมีการแห่พระพุทธรูปองค์นี้รอบย่านบางลำพูและนำไปประดิษฐานชั่วคราวที่สวนสันติชัยปราการเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสสรงน้ำพระครับ

และที่ผนังของห้องนี้จะมีรูปเก่าๆ ที่หาดูได้ยากเกี่ยวกับผู้คนและชุมชนย่านบางลำพูอยู่ด้วยครับ และเนื่องจากห้องนี้เป็นห้องสุดท้ายของการชมแล้ว ดังนั้นหากใครที่อยากจะกราบพระพุทธรูปหรือดูชมภาพนานๆ ก็สามาถทำได้ครับ เพียงแต่ว่าทางเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้เราเดินย้อนกลับไปดูห้องที่ผ่านๆ มาเท่านั้นเองครับ

หลังจากที่เราก้าวเท้าออกจากห้องสุดท้าย และเดินลงไปยังชั้น 1 ของอาคารเรือนไม้ริมคลองบางลำพู เพื่อที่จะกลับไปยังจุดตั้งต้นของเราอีกครั้งนั้น เราจะมีโอกาสได้เห็นอีก 2 ส่วนเล็กๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานที่แห่งนี้ นั่นก็คือ ห้องสมุดชุมชนบางลำพู” และประวัติความเป็นมาของการพิมพ์หนังสือในประเทศไทยในนิทรรศการเล็กๆ ที่ชื่อว่า แรกมีสิ่งพิมพ์ในสยาม” ใครที่สนใจก็ลองแวะเข้าไปชมได้นะครับ ใช้เวลาไม่นาน

และเมื่อมาถึงตรงนี้ ผมก็คงต้องเอ่ยปากบอกทุกคนว่าการเดินทางของผมในวันนี้ได้จบลงแล้ว ผมได้พาทุกคนเดินชมพิพิธบางลำพู อีกหนึ่ง The Hidden Gems หรือสถานที่เร้นลับในกรุงเทพที่น้อยคนจะรู้ครบถ้วนเรียบร้อยแล้วครับ แต่ผมอยากจะบอกว่าที่ทุกคนอ่านกันมายาวๆ เนี่ย มันยังไม่ได้เสี้ยวนึงของการไปสัมผัสที่แห่งนี้ด้วยตัวเองเลยครับ เพราะที่นี่ยังมีข้อมูลอีกหลายอย่างมากที่ผมยังไม่ได้เล่า มีของอีกหลายอย่างมากที่คุณจะไม่มีวันเข้าใจมันได้อย่างลึกซึ้ง หากคุณไม่ได้ไปสัมผัสหรือดูด้วยตาของคุณเอง

ดังนั้นหากคุณคิดว่าสถานที่แห่งนี้น่าสนใจ คุณก็อย่าลืมที่จะวางแผนและออกไปเรียนรู้ด้วยตัวเองนะครับ สถานที่ดีๆ แบบนี้ เข้าฟรีแบบนี้ มันเป็นอะไรที่ผมว่าเยี่ยมมากๆ เลย แล้วก็หากคุณได้มีโอกาสไปที่พิพิธบางลำพูก็อย่าลืมที่จะเผื่อเวลาไปเดินเล่นแถวนั้นต่ออีกซัก 1-2 ชั่วโมงนะครับ เพราะย่านนั้นเต็มไปด้วยร้านขายของและร้านอาหารอร่อยๆ อยู่เต็มไปหมดเลย ><

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านจนจบ แล้วมาดูกันต่อว่า The Hidden Gems ที่ผมจะพาทุกคนไปรู้จักที่ต่อไปนั้นคือที่ไหน มีอะไรที่ทำให้คุณต้องรู้สึกทึ่งจนอยากจะออกไปสัมผัสหรือเห็นด้วยตาของตัวเองหรือไม่ โดยทุกคนสามารถที่จะติดตามเรื่องราวของสถานที่เหล่านี้ได้อย่างใกล้ชิดที่แฟนเพจ “ภรรยาหา สามีใช้” ได้เลยครับ ส่วนใครที่อ่านเรื่องราวของพิพิธบางลำพูที่ผมเล่าจบแล้ว แต่ยังมีอะไรสงสัยอยู่ก็สามารถตามไปดูข้อมูลหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางด้านล่างนี้ได้เลย แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ

Fanpage : พิพิธบางลำพู

โทร : 02-2819828

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผมในวันที่ไปใช้บริการเท่านั้นครับ แต่ละท่านที่ได้มีโอกาสไปใช้บริการอาจจะได้รับการบริการที่แตกต่างจากนี้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก
Exit mobile version