Home Travel พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก : เสน่ห์ที่แอบซ่อนในบางรัก นำพาเราย้อนกลับสู่วิถีชีวิตคนกรุงในอดีต

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก : เสน่ห์ที่แอบซ่อนในบางรัก นำพาเราย้อนกลับสู่วิถีชีวิตคนกรุงในอดีต

จงไปในที่ที่ไม่ค่อยมีคนไป แล้วคุณจะเห็นในสิ่งที่คนอื่นๆ ไม่ค่อยได้เห็น

และหากคุณไม่สามารถย้อนเวลากลับสู่อดีตได้ จงไปในที่ที่เค้าอนุรักษ์สิ่งนั้นไว้ให้คุณดู

.

.

.

จาก 2 ประโยคข้างต้นนี่แหละครับ ก็เลยเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ช่วงนี้ผมกับต๋งเดินทางไปพิพิธภัณฑ์หรือสถานเรียนรู้ต่างๆ ภายในกรุงเทพ เพื่อเรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจและนำสิ่งนั้นออกมาเล่าให้ทุกคนได้เห็นว่าในเมืองไทยของเรานั้นมี The Hidden Gems หรือสถานที่เร้นลับที่น่าสนใจแอบซ่อนอยู่มากมายแค่ไหน และวันนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับอีกหนึ่งสถานที่ที่ผมภูมิใจนำเสนอ นั่นก็คือ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ครับ

Disclosure : บทความนี้เป็นบทความที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้บริการใดๆ ทั้งสิ้น

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก  หรือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตของคนกรุงเทพเมื่อประมาณ 60-80 ปีที่แล้วได้ดีมากๆ แห่งนึงเลยครับ โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะความตั้งใจและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของท่านอาจารย์วราพร สุรวดี ผู้เป็นเจ้าของที่ดินผืนนี้ โดยท่านต้องการจะจัดแสดงบ้านและทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้รับมรดกมาจากนางสอาง สุรวดี (ตันบุญเล็ก) ซึ่งเป็นคุณแม่ของท่านเพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่คนรุ่นหลังจะได้ศึกษาเรื่องราวของชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลางในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณปี พ.ศ. 2480 ถึง พ.ศ. 2500) โดยข้าวของและเครื่องใช้ต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นของใช้ของท่านอาจารย์วราพรและครอบครัวที่เคยใช้งานอยู่จริงครับ

นี่เป็นภาพของท่านอาจารย์วราพร สุรวดี ผู้ซึ่งเคยเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินผืนที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกตั้งอยู่ โดยท่านได้บริจาคทรัพย์สินทั้งหมดนี้ให้กับทางกรุงเทพมหานคร และได้อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 ด้วยวัย 82 ปี และนี่ถือเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญคนนึงของประเทศไทยเลยครับ T_T

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพอาจารย์วราพร สุรวดี จากอินเตอร์เนทด้วยนะครับ

สำหรับการเดินทางมายังพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกแห่งนี้ก็ง่ายๆ เลยครับ เพียงแค่เรามายังซอยเจริญกรุง 43 ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับไปรษณีย์กลาง บางรักให้ได้ เพียงเท่านี้เราก็จะได้เข้ามายลโฉมความงามของสถานที่แห่งนี้แล้ว โดยสำหรับใครที่ขับรถมานั้นผมแนะนำให้จอดรถที่ไปรษณีย์กลาง บางรัก แล้วเสียค่าจอดชั่วโมงละ 20 บาท จากนั้นเดินข้ามถนนและตรงเข้าซอยเจริญกรุง 43 มาประมาณ 200 เมตรก็จะเจอกับพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกอยู่ทางขวามือของเราครับ

นี่เป็นหน้าตาของประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกครับ ดูสวยงามและร่มรื่นมากๆ

ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมีอาคารทั้งหมด 4 หลัง โดยจะแบ่งเป็นอาคารที่จัดแสดงเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์จำนวน 3 หลัง และอีก 1 หลังนั้นชั้นล่างจะเป็นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ส่วนชั้นสองของอาคารจะเป็นส่วนที่ท่านอาจารย์วราพร สุรวดี เคยพักอยู่จนกระทั่งบั้นปลายของชีวิตครับ

ส่วนนี่เป็นบริเวณสวนที่อยู่รอบๆ บ้านและอาคารทั้ง 4 หลังครับ ดูสวยงามและน่าพักอาศัยมากๆ โดยในพื้นที่สวนที่อยู่รอบบ้านนี้จะมีเรื่องราวที่น่าสนใจแทรกอยู่เล็กน้อยด้วย เช่น บ่อน้ำที่เราเห็นอยู่หน้าบ้านนั้นเดิมในอดีตเคยเป็นคลองมาก่อน และรวมไปถึงถนนที่เราเห็นว่าเป็นซอยเจริญกรุง 43 ในปัจจุบันนี้ด้วย หรือพื้นที่ที่เราเห็นว่าเป็นสนามหญ้าหน้าบ้านและมีต้นไม้ใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น เดิมในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จุดนี้เคยเป็นหลุมหลบภัยมาก่อนด้วยนะครับ แต่ปัจจุบันนี้ได้ถูกฝังกลบไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนในเรื่องของค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ผมขอบอกเลยนะครับว่ามันดีงามมากๆ เพราะที่นี่เค้าเปิดให้เข้าชมฟรีครับ!!! ใครที่สนใจก็ไม่ต้องลังเลอะไรแล้ว ของดีๆ แบบนี้ เปิดให้เข้าชมฟรีแบบนี้ ถ้ามีโอกาสควรต้องมาซักครั้งครับ โดยเวลาเปิดทำการของเค้าก็คือตั้งแต่เวลา 10.00 จนถึง 16.00 น.ของวันพุธถึงวันอาทิตย์ (หยุดทุกวันจันทร์และวันอังคาร) และในการเข้าชมนั้นจะเป็นการเดินชมด้วยตัวเองเป็นหลักโดยจะมีทางเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์มาพูดคุยและให้ความรู้เราเบื้องต้นก่อนที่จะเดินชม ซึ่งหากวันไหนที่มีคนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ไม่มากนัก ทางเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ก็จะเดินไปพร้อมๆ กับเราด้วยครับ

เอาล่ะ คราวนี้เราไปดูอาคารแต่ละหลังกันเลยนะครับ เริ่มจากอาคารหลังแรกที่อยู่ด้านหน้าสุดเลย อาคารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2480 หรือเมื่อประมาณ 80 กว่าปีที่แล้ว โดยเป็นอาคารที่คุณแม่ของท่านอาจารย์วราพรได้สร้างขึ้นมาด้วยเงินจำนวน 2,400 บาท ซึ่งผมบอกเลยครับว่าในปัจจุบันนี้มีเงิน 1 ล้านบาทก็ยังไม่รู้ว่าจะสร้างแบบนี้ได้หรือเปล่า @_@

อาคารแห่งนี้จะเป็นอาคารที่ครอบครัวของท่านอาจารย์วราพรเคยอาศัยอยู่เมื่อในอดีต โดยคุณแม่ของท่านมีลูกทั้งหมด 5 คน เป็นผู้หญิงล้วน และท่านอาจารย์เป็นลูกคนที่ 4 ครับ ลักษณะของอาคารจะเป็นอาคารไม้สองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าวสีแดง ผนังอาคารสร้างด้วยไม้ทาสีเลียนแบบผนังก่ออิฐ และสถาปัตยกรรมหลายๆ อย่างจะได้รับอิทธิพลมาจากทางตะวันตกซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในยุคนั้น ภายในอาคารจะประกอบไปด้วยห้องและสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ มากมายดังนี้ครับ

ระเบียงหรือโถงหน้าบ้าน : ส่วนนี้จะเป็นส่วนแรกของบ้านเลยที่เราจะได้เห็น มีความสวยงามและเป็นสถานที่ที่ผมว่าเหมาะมากกับการนั่งชมบรรยากาศรอบๆ บ้านครับ

ห้องรับแขก : ห้องนี้จะมีเปียโนคู่ใจของคุณแม่ท่านอาจารย์อยู่ด้วย โดยจะเป็นเปียโนงาช้างซึ่งคนในสมัยก่อนมีความเชื่อว่า หากใครที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ให้มานั่งเล่นเปียโนที่ทำแป้นกดจากงาช้างแบบนี้ เพราะงาช้างจะสามารถช่วยดูดพิษไข้ออกไปได้ นอกจากนี้ภายในห้องก็ยังมีโต๊ะรับแขก รวมไปถึงตู้ใส่เครื่องแก้วเจียระไนต่างๆ ด้วยครับ

ห้องอาหาร : ภายในห้องนี้จะมีโต๊ะรับประทานอาหารขนาด 6-8 ที่นั่ง โดยบนโต๊ะจะจัดแสดงชุด Dinner set แบบต่างประเทศไว้ รวมไปถึงยังมีภาชนะลายครามแบบจีน, เครื่องเคลือบสีเขียวไข่การูปแบบต่างๆ  แล้วก็ตู้เย็นกับโทรทัศน์ในสมัยก่อนครับ

ห้องหนังสือ : ด้วยความที่สามีคนแรกของคุณสอาง (คุณแม่ของท่านอาจารย์) คือคุณหมอฟรานซิส คริสเตียน ดังนั้นภายในห้องนี้ก็เลยมีตำราทางการแพทย์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับการรักษาโรคต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก โดยห้องนี้จะมีทางทะลุไปยังห้องน้ำที่อยู่ใต้บันไดด้วย ซึ่งห้องน้ำนี้เป็นการต่อเติมเข้ามาภายหลังเพื่อสร้างความสะดวกให้กับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้าน ไม่ต้องลำบากเดินออกไปเข้าห้องน้ำที่อยู่ภายนอกตัวบ้านแบบที่คนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นทำกัน โดยหากเรามองเผินๆ แล้ว อาจจะคิดว่านี่คือโถส้วมหรือชักโครกธรรมดา แต่ถ้ามองดีๆ แล้วจะเห็นว่าที่ใต้โถส้วมนั้นจะมีกระโถนรองอยู่ด้านล่าง ซึ่งเมื่อเราถ่ายหนักหรือเบาเสร็จแล้วก็จะมีคนนำกระโถนที่รองอยู่ด้านล่างไปเททิ้ง จากนั้นก็ทำความสะอาด และนำมาใช้ใหม่ โดยโถส้วมนี้จะถูกใช้งานกันในสมัยที่ยังไม่มีน้ำประปาและส้วมแบบชักโครกครับ

โถงชั้นล่าง : ที่โถงนี้จะมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงขนาดใหญ่ของคุณหมอฟรานซิสอยู่ รวมไปถึงตู้มุกจากประเทศจีนด้วย และที่โถงแห่งนี้เราจะสามารถเห็นได้เลยว่าทั้ง 3 ห้องที่อยู่ชั้น 1 ของบ้านนั้นจะมีทางเดินทะลุเชื่อมถึงกันหมด ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของบ้านในสมัยก่อนที่ออกแบบมาให้สะดวกในการใช้งานและมีการไหลเวียนของอากาศได้ดีมากๆ เลยครับ

ห้องนอนคุณยายอิน : ห้องนี้จะตั้งอยู่บนชั้นสองของอาคาร ประกอบไปด้วยเตียงไม้โบราณแบบฝรั่งที่มีเสามุ้ง, โต๊ะเครื่องแป้ง และขวดน้ำหอมแบบต่างๆ ซึ่งมีอายุตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ครับ

ห้องแต่งตัวแบบยุโรป : ห้องนี้จะเป็นห้องที่มีขนาดกว้างมาก ภายในห้องจะมีโต๊ะเครื่องแป้งที่มีกระจกประดับทั้งสามด้าน, อ่างล่างหน้า, หุ่นพลาสเตอร์ของคุณหมอฟรานซิส ที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ปั้น รวมไปถึงของใช้อื่นๆ อีกเล็กน้อย โดยห้องนี้จะสามารถเดินเข้าห้องน้ำที่อยู่บริเวณชั้น 2 ของบ้านได้ด้วยครับ

ห้องนอนใหญ่ : ห้องนอนนี้เป็นห้องนอนของพี่สาวอาจารย์วราพร ภายในห้องจะมีตู้เสื้อผ้าบานใหญ่ที่เข้าชุดกับโต๊ะแต่งตัวและเตียง สำหรับห้องนี้ก็จะสามารถเดินเข้าห้องน้ำที่อยู่ชั้น 2 ของบ้านได้เช่นเดียวกับห้องแต่งตัว เพราะห้องน้ำนี้มีประตูทางเข้าออก 2 ทางครับ

ห้องบรรพบุรุษ : ห้องนี้จะมีการเก็บอัฐิของครอบครัวท่านอาจารย์วราพรไว้ครับ

โถงชั้น 2 : ที่โถงนี้จะเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจหรือไว้นั่งพูดคุยกันของคนที่อาศัยอยู่ในบ้าน โดยจะมีของที่จัดแสดงไว้หลายอย่างเหมือนกัน เช่น ที่นอนเด็กทารก, จักรเย็บผ้า, เครื่องอัดผ้า, ถาดและพานโบราณ เป็นต้น

และตอนนี้ผมก็พาทุกคนเดินดูบ้านหรืออาคารหลังที่ 1 จบแล้วครับ และถึงแม้การเดินชมจุดต่างๆ ภายในบ้านจะเป็นการเดินชมด้วยตัวเองเป็นหลัก แต่ด้วยความที่ทางพิพิธภัณฑ์บางกอกมีการทำป้ายข้อมูลต่างๆ ไว้แทบทุกจุด ทำให้เราสามารถเดินชมด้วยตัวเองได้อย่างสบายๆ รวมถึงได้รับข้อมูลที่น่าสนใจเยอะมากครับ เพราะข้อมูลที่ทางพิพิธภัณฑ์เขียนไว้ในป้ายกำกับนั้นถือว่าละเอียดเลย ยังไงใครที่ได้มีโอกาสไปชมที่นี่ก็เดินอ่านให้ละเอียดนะครับ หลายๆ อย่างมันน่าสนใจมากจริงๆ

เอาล่ะ คราวนี้เรามาดูอาคารหลังที่สองกันต่อดีกว่าครับ อาคารหลังที่สองนี้จะเป็นอาคารไม้ 2 ชั้นที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการจำลองบ้านของคุณหมอฟรานซิสที่เคยปลูกอยู่ที่ทุ่งมหาเมฆ ซอยงามดูพลี โดยบ้านหลังดังกล่าวนั้นคุณหมอฟรานซิสตั้งใจสร้างขึ้นมาโดยให้ชั้นล่างเป็นเป็นคลีนิคของคุณหมอ ส่วนชั้นบนนั้นเป็นที่พัก แต่ยังสร้างไม่ทันเสร็จคุณหมอก็ล้มป่วยและเสียชีวิตไปก่อน ซึ่งต่อมาอาจารย์วราพรเห็นว่าหากยังคงปล่อยบ้านหลังดังกล่าวไว้ตามเดิมก็คงจะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาและเป็นที่น่าเสียดายมากที่คนรุ่นหลังจะไม่มีโอกาสได้เห็น ท่านจึงได้รื้อบ้านที่ทุ่งมหาเมฆมาจัดสร้างไว้ที่นี่แทน โดยจัดสร้างแบบย่อส่วนลงให้พอดีกับพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกที่มีอยู่อย่างจำกัด และตกแต่งบ้านด้วยข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆ ของคุณหมอฟรานซิสครับ

ส่วนภาพนี้เป็นภาพของชั้น 1 ของอาคารหลังนี้ครับ มีที่นั่งเยอะดี แถมยังสามารถมองเห็นวิวต้นไม้สวยๆ ที่อยู่รอบบ้านได้ด้วย

ส่วนชั้นที่ 2 นั้นจะมีรูปปั้นของคุณหมอฟรานซิส รวมไปถึงห้องนอนขนาดใหญ่ แล้วก็อุปกรณ์ทางการแพทย์ในสมัยนั้น ซึ่งหลายๆ อย่างก็น่าสนใจมากครับ เช่น เครื่องชั่งน้ำหนักแบบกลับด้าน

ต่อกันที่อาคารหลังที่ 3 อาคารหลังนี้จะเป็นตึกแถว 2 ชั้นขนาดกว้าง 8 คูหา ชั้นล่างจะเป็นการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ที่มีทั้งเครื่องครัว, เครื่องเขียน, เครื่องมือช่างต่างๆ ใครที่สนใจเรื่องพวกนี้ก็สามารถดูเพลินๆ ได้เลยครับ ของที่เค้าจัดแสดงนั้นมีเยอะมาก

ส่วนชั้นที่ 2 ของอาคารนั้นจะเป็นการจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ของเขตบางรัก โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพรวมของกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน, ประวัติความเป็นมาของชื่อ “บางกอก”, ประวัติความเป็นมาของเขตบางรัก, ลักษณะทางกายภาพของเขตบางรัก, สถานที่สำคัญและบุคคลสำคัญของเขตบางรัก, บทบาทของชุมชนตะวันตกที่มีต่อการปฏิรูปประเทศ รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ใครที่สนใจก็ลองอ่านดูไปเรื่อยๆ นะครับ ใครอ่านครบทุกแผ่นนี่น่าจะกินเวลาไปเกือบชั่วโมงได้เลย @_@

นอกจากนี้ที่ชั้น 2 ของอาคารก็ยังมีหนังสือที่ท่านอาจารย์วราพรเคยอ่าน รวมไปถึงทางเดินที่เชื่อมไปยังชั้น 2 ของอาคารหลังที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนที่ท่านอาจารย์ใช้พักอาศัยจนกระทั่งช่วงบั้นปลายของชีวิตครับ

ก็จบลงแล้วนะครับสำหรับการนำพาทุกคนไปเที่ยวอีกหนึ่งสถานที่เร้นลับหรือ The Hidden Gems ในครั้งนี้ ใครที่สนใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบางกอกในสมัยอดีต, ของและเครื่องใช้โบราณ รวมไปถึงคนที่ชอบธรรมชาติ, ความสงบ และการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมน่าจะถูกใจกับการไปที่นี่ครับ บรรยากาศดี เดินทางไม่ยากมาก และไม่มีค่าเข้าชมใดๆ ทั้งสิ้น ใครที่คิดว่าสถานที่นี้น่าสนใจก็อย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมหรือแชร์บอกต่อกันไปเรื่อยๆ ด้วยนะครับ

ส่วนเวลาในการเข้าชมนั้นผมว่าใช้เวลาประมาณ 1.30 – 2 ชั่วโมงกำลังดี ยกเว้นใครที่เป็นคนชอบอ่าน หรือเป็นคนที่ชอบเก็บรายละเอียดสุดๆ ก็อาจจะใช้เวลาถึง 3-4 ชั่วโมงเลย เพราะหากเราตั้งใจดูจะพบว่ามันมีรายละเอียดและเรื่องราวที่แอบซ่อนอยู่เยอะมากครับ

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านจนจบ แล้วมาดูกันว่า The Hidden Gems ที่ผมจะพาทุกคนไปรู้จักที่ต่อไปนั้นคือที่ไหน มีอะไรที่ทำให้คุณต้องรู้สึกทึ่งจนอยากจะคว้ากระเป๋าออกจากบ้านแล้วไปตามรอยผมกับต๋ง ก็สามารถติดตามอย่างใกล้ชิดได้ที่แฟนเพจ “ภรรยาหา สามีใช้” ได้เลยครับ ส่วนใครที่อ่านเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกที่ผมเขียนจบแล้ว แต่ยังมีอะไรสงสัยอยู่ก็สามารถตามไปดูข้อมูลหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางด้านล่างนี้ได้เลย แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ

Fanpage : พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

โทร : 02-2337027

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผมในวันที่ไปใช้บริการเท่านั้นครับ แต่ละท่านที่ได้มีโอกาสไปใช้บริการอาจจะได้รับการบริการที่แตกต่างจากนี้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก
Exit mobile version