หากพูดถึงโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นมา ผมว่าหลายๆ คนน่าจะมีความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีซักเท่าไหร่ใช่มั้ยครับ ซึ่งต้องบอกว่าเดิมนั้นผมเองก็มีความรู้สึกแบบนั้นอยู่นิดๆ เหมือนกัน แต่หลังจากที่ผมได้มีโอกาสไปรู้จักกับศูนย์การเรียนรู้โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือ Biomass Power Plant Learning Center ของมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ความรู้สึกของผมที่มีต่อโรงไฟฟ้าชีวมวลก็ได้เปลี่ยนแปลงไป และถ้าใครอยากรู้ว่ามันเปลี่ยนแปลงไปยังไง รวมไปถึงโรงไฟฟ้าชีวมวลจริงๆ นั้นคืออะไร มีความสำคัญยังไงกันบ้างก็ตามผมมาได้เลยครับ

ทริปนี้ของผมเริ่มจากการเดินทางจากสนามบินดอนเมืองมายังสนามบินพิษณุโลก โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น โดยหลังจากที่ผมถึงสนามบินพิษณุโลกผมก็ทำการติดต่อเช่ารถครับ ซึ่งภายในสนามบินแห่งนี้ก็มีผู้ให้บริการหลายเจ้าเลย โดยวันนี้ผมเลือกเช่ารถ Toyota Vios จาก AVIS และมีค่าบริการหลังจากบวกค่าประกันนู่นนี่แล้วตกอยู่ที่ประมาณ 990 บาท/วันครับ ซึ่งพวกประกันต่างๆ นี้เราสามารถเลือกเองได้หมดเลยว่าจะเอาอันไหนบ้างไม่เอาอันไหนบ้าง ใครที่ไม่เอาอะไรเลยค่าเช่าก็อาจจะอยู่ที่ประมาณ 800 บาท/วัน ส่วนใครที่จัดแบบเต็มที่ก็อาจจะตกอยู่ที่ 1,200 บาท/วัน ครับ

Disclosure : บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้บริการ แต่ทั้งนี้ความเห็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นความรู้สึกจริงของผมครับ

หลังจากที่ผมติดต่อเช่ารถเสร็จแล้ว ผมก็ขับรถจากสนามบินพิษณุโลกไปยังศูนย์การเรียนรู้โรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสวนพลังงานของวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมารต์กริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยใช้เวลาขับรถประมาณ 20 นาทีครับ โดยวิทยาลัยแห่งนี้ก็เปรียบเสมือนคณะๆ หนึ่งในมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีเนื้อหาการสอนที่เกี่ยวกับเรื่องพลังงานทดแทนและการวิจัยพลังงานทางเลือกต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานชีวมวล รวมไปถึงพลังงานในอนาคตอย่างเช่นไฮโดรเจน โดยวิทยาลัยแห่งนี้ได้เปิดทำการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 แล้วครับ

วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมารต์กริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวรนั้นมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 50 ไร่ โดยปัจจุบันนี้ได้ทำการเปิดสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยมีนักศึกษาทั้งจากประเทศไทยและจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาศึกษาอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและชื่อเสียงของวิทยาลัยแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี และนอกจากนี้วิทยาลัยแห่งนี้ยังได้มีการติดตั้ง Solar Cell (โซล่า เซลล์) ไว้ภายในพื้นที่และบนอาคารต่างๆ เป็นจำนวนมาก จนสามารถที่จะผลิตไฟฟ้าได้วันละประมาณ 2,000-3,000 หน่วย ครอบคลุมปริมาณการใช้ไฟฟ้าของวิทยาลัยในแต่ละวันได้แทบจะ 100% และยังสามารถส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ในคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวรจนสามารถช่วยประหยัดค่าไฟไปได้ 3.5 – 4 ล้านบาทต่อปีเลยครับ!!

นี่เป็นภาพแผง Solar Cell แบบต่างๆ ที่มีการติดตั้งไว้ภายในวิทยาลัยแห่งนี้ครับ โดยที่ผมประทับใจมากที่สุดก็คือ Solar Parabolic Trough ที่มีการหมุนแผง Solar Cell ไปตามการหมุนของดวงอาทิตย์ในแต่ละวันตลอดทั้งปี โดยทางวิทยาลัยนั้นได้มีการคำนวนทิศทางการเคลื่อนที่ของพระอาทิตย์ไว้ล่วงหน้าและเขียนโปรแกรมรวมทั้งใส่ข้อมูลต่างๆ ไว้ล่วงหน้ากันเป็นปีๆ เลยครับ!!

ส่วนพวกแผง Solar Cell แบบอื่นๆ ที่ไม่สามารถหมุนไปตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ได้นั้น ทางวิทยาลัยจะทำการติดตั้งให้หันหน้าไปทางทิศใต้ เนื่องจากจะเป็นทิศที่แผง Solar Cell จะสามารถรับแสงอาทิตย์ในแต่ละวันได้มากที่สุดครับ

ส่วนภาพเหล่านี้จะเป็นภาพอาคารต่างๆ ภายในวิทยาลัยแห่งนี้ครับ โดยอาคารส่วนมากจะเป็นอาคารขนาดเล็ก 1-2 ชั้นที่มีการติดตั้งแผง Solar Cell ไว้ที่บริเวณหลังคา และอาคารเหล่านี้ยังได้มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีความทันสมัยเข้ามาช่วยประหยัดพลังงานภายในอาคารด้วย เช่น ระบบการตัดไฟอัตโนมัติเมื่อไม่มีการเคลื่อนไหวภายในห้องเป็นเวลานาน เป็นต้น โดยแนวความคิดเรื่องการใช้พลังงานจากธรรมชาติและการประหยัดพลังงานเหล่านี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญของโครงการ NU Smart City ของมหาวิทยาลัยนเรศวรด้วยครับ

และด้วยความที่ทางภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพิ่มมากขึ้น ตามที่ได้มีการวางแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 20 ปี พ.ศ. 2558 – 2579 อีกทั้งยังมีหลายเรื่องที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล ดังนั้นทางวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมารต์กริดเทคโนโลยีจึงได้ทำการสร้างศูนย์การเรียนรู้โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือ Biomass Power Plant Learning Center ขึ้นมาภายในพื้นที่ของวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือที่เรียกว่าสำนักงาน กกพ. ซึ่งนอกจากความตั้งใจของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่จะพัฒนางานวิชาการให้เป็นศูนย์เรียนรู้แล้ว สำนักงาน กกพ. ผู้ดูแลกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเองก็มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านไฟฟ้าที่ถูกต้องแก่ประชาชนด้วย ดังนั้นทั้งสองหน่วยงานในฐานะผู้คิดค้นและผู้สนับสนุนจึงร่วมกันสร้างสรรค์ ให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่คนสนใจเรื่องราวของโรงไฟฟ้าชีวมวลจะได้มาศึกษา ได้มารับข้อมูลที่ถูกต้อง และได้เข้าใจถึงประโยชน์ของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีต่อสังคมและประเทศไทยครับ

โดยในวันที่ผมเดินทางมานี้ (วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561) ก็ถือเป็นวันแรกที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการด้วยครับ โดยวันนี้นอกจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังสี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ต่างก็ได้มาร่วมพิธีเปิดกันอย่างคับคั่งแล้ว ก็ยังได้มีการบรรยายพิเศษเรื่องพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีการเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนา NU Smart City อีกด้วยครับ

สำหรับศูนย์การเรียนรู้โรงไฟฟ้าชีวมวล วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมารต์กริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวรนั้นจะมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นทั้งหมด 7 โซนด้วยกันได้แก่

โซนที่ 1 จุดแนะนำศูนย์การเรียนรู้ : จุดเริ่มต้นของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ที่จะบอกให้เราทราบว่าภายในศูนย์มีการแบ่งการเล่าเรื่องออกเป็นหัวข้ออะไรบ้าง โดยจุดนี้จะอยู่บริเวณทางเข้าเลยครับ พอเราเดินผ่านประตูมาก็จะเห็นป้ายนี้ทันที

โซนที่ 2 จุดการเรียนรู้พลังงานชีวมวล : จุดที่จะมีการฉาย VTR ต่างๆ เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อให้ทุกคนเข้าใจในทุกประเด็นอย่างแจ่มแจ้ง โดยที่ศูนย์จะมี VTR ทั้งหมดถึง 10 เรื่องด้วยกัน จุดนี้เป็นจุดที่ผมอยากจะให้คนที่มีเวลามานั่งศึกษาและดู VTR จนครบนะครับ เพราะเราจะได้ข้อมูลที่มีประโยชน์มากๆ โดย VTR ต่างๆ นั้นจะเป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวการ์ตูนที่น่ารัก เล่าเรื่องง่ายๆ สบายๆ ทำให้เราสามารถดูได้เพลินๆ ไม่เกิดอาการเครียดหรือง่วง ส่วนพื้นที่ภายในห้องนี้ทางศูนย์ก็ได้มีการจัดสถานที่ได้สวยงามดีครับ ตกแต่งด้วยไม้เป็นหลักและก็มีพื้นที่กว้างขวาง สามารถรองรับผู้เข้าชมประมาณ 20-30 คนพร้อมกันได้อย่างสบายๆ

และที่จุดนี้ก็ได้ทำให้ผมได้เรียนรู้เลยว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีการใช้พลังงานต่อปีมากน้อยแค่ไหน, ระบบการผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้าภายในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร, โรงฟ้าเอกชนและโรงไฟฟ้าชีวมวลมีความสำคัญต่อการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศมากน้อยเพียงใด, แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 20 ปีนั้นคืออะไร, กองทุนพัฒนาไฟฟ้าคืออะไร และจริงๆ แล้วโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างกลมกลืน แถมให้ประโยชน์กับสังคมรวมทั้งสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหนครับ

ใครที่มีเวลาผมก็อยากให้นั่งดู VTR เหล่านี้ไปเรื่อยๆ นะครับ แต่ถ้าใครมีเวลาจำกัดก็ดูแค่ VTR ภาพรวมเพียงอย่างเดียวก็ได้ แล้วหลังจากนั้นเราค่อยไปตามอ่านรายละเอียดในจุดอื่นๆ เพิ่มเติม เนื่องจากข้อมูลหลายๆ ส่วนนั้นจะมีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันครับ

โซนที่ 3 จุดการเรียนรู้โดยใช้สื่อจากเทคโนโลยี AR : จุดที่ผมคิดว่าหลายๆ คนน่าจะชื่นชอบ เพราะทางศูนย์ได้มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกับภาพกราฟฟิคที่ดูง่ายมาผสมผสานกัน ทำให้ทุกเพศทุกวัยต่างก็เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ได้โดยง่ายและไม่รู้สึกเบื่อ โดยทางศูนย์จะมีการติดตั้งจุด AR ไว้ทั้งหมด 11 จุดด้วยกัน หากเราต้องการจะดูข้อมูลจุดไหนก็ให้เราหยิบเอา iPad ที่ทางศูนย์ได้เตรียมไว้ให้ เปิดแอพลิเคชั่น BPPLC แล้วก็เอาไปส่องที่หมายเลขนั้นๆ ได้เลย จากนั้นก็จะมีภาพกราฟิคน่ารักๆ พร้อมทั้งเนื้อหาต่างๆ โผล่ขึ้นมาใน iPad ให้เราได้อ่านกัน โดยเราสามารถที่จะเลื่อนซ้ายขวา หรือซูมเข้าออกได้ด้วยนะครับ นอกจากนี้หากใครที่รู้สึกไม่สะดวกกับการใช้ iPad ที่ทางศูนย์เตรียมไว้ให้ เราก็สามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น BPPLC มาไว้ในมือถือตัวเองได้เลยครับ สะดวกสบายในการใช้งานสุดๆ

สำหรับหัวข้อใน AR ทั้ง 11 จุดนั้นก็จะประกอบไปด้วยหัวข้อต่างๆ ดังนี้ครับ

  1. ชีวมวลมาจากไหน

  2. การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล

  3. พลังงานชีวมวลแต่ละชนิดเทียบเท่าการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันของเราอย่างไร

  4. โรงไฟฟ้าชีวมวลกับชุมชน

  5. สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย

  6. ประโยชน์และผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

  7. วิถีชีวิตชุมชนรอบโรงไฟฟ้าชีวมวล

  8. ชีวมวลของประเทศไทย

  9. โรงไฟฟ้าชีวมวลของประเทศไทย

  10. การมีส่วนร่วมกับชุมชนของโรงไฟฟ้าชีวมวล

  11. จุด Check In

และนอกจากนี้ที่บริเวณนี้ก็ยังมีข้อมูลดีๆ ให้เราอ่านกันอีกเพียบเลยครับ ทั้งเรื่องไฟฟ้ามาจากไหน ที่ทำให้ผมรู้ว่าปัจจุบันนี้พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเพียงแค่ 37% เท่านั้น ส่วนอีก 63% นั้นมาจากแหล่งอื่นโดยจะแบ่งเป็นมาจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ 35%, โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก 19% แล้วก็จากโรงไฟฟ้าต่างประเทศอีก 9% ครับ

นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของเชื้อเพลิงชีวมวลและการแปรรูป โดยเชื้อเพลิงชีวมวลนั้นจะมีอยู่ทั้งหมด 3 แบบด้วยกันคือ เชื้อเพลิงแข็ง, เชื้อเพลิงเหลว แล้วก็เชื้อเพลิงก๊าซ ซึ่งในประเทศไทยนั้นจะมีการเอาเชื้อเพลิงชีวมวลมาจากทั้งพืชผลทางการเกษตร, สิ่งปฏิกูล, ขยะมูลฝอย, มูลสัตว์, อุตสาหกรรม แล้วก็ป่าไม้ โดย 6 ชีวมวลที่มีศักยภาพในประเทศไทยก็ได้แก่ ข้าว, อ้อย, ข้าวโพด, ปาล์มน้ำมัน, มันสำปะหลัง แล้วก็จากไม้และเศษไม้ครับ ซึ่งเราจะเห็นได้เลยว่าวัสดุเหล่านี้ส่วนใหญ่คือวัสดุที่เป็นพืชผลทางการเกษตร และการที่เรานำเอาวัสดุเหล่านี้มาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงหรือพลังงานไฟฟ้า นอกจากเราจะได้รับประโยชน์เรื่องของพลังงานที่ได้แล้ว ก็ยังเป็นการลดการทิ้งเศษวัตถุดิบ, ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้ง แล้วก็เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยครับ

โซนที่ 4 จุดการเรียนรู้โดยใช้สื่อจากเทคโนโลยี Interactive Media : นี่เป็นอีกหนึ่งจุดที่ผมว่าสนุกสนานและเพลิดเพลินไม่แพ้จุดเมื่อกี้เลยครับ เพราะที่จุดนี้นอกจากจะมีการแสดงข้อมูลต่างๆ ของโรงไฟฟ้าชีวมวล, วัตถุดิบ และกระบวนการแปรรูปแบบเชิงลึกให้เราดูง่ายๆ ผ่านภาพกราฟฟิคที่น่ารัก สบายตาแล้ว ที่จุดนี้ยังมีเกมส์จับคู่ และเกมส์ตอบคำถามหาค่าความร้อนสุดสนุกให้เราเล่นประชันแข่งกับเพื่อนๆ อีกด้วยครับ

โซนที่ 5 จุดการเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักกับโรงไฟฟ้าชีวมวล : จุดนี้จะเล่าถึงข้อมูลว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลคืออะไร, มีความสำคัญกับชุมชนและประเทศไทยขนาดไหน, ขั้นตอนการก่อตั้งและการดำเนินงานนั้นต้องมีอะไรบ้าง และที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องที่ทุกคนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยที่จุดนี้จะมีทั้งส่วนที่เราสามารถอ่านข้อมูลได้จากบอร์ดความรู้โดยตรง แล้วก็ส่วนที่ใช้แอพพลิเคชั่น BPPLC สแกน AR แล้วอ่านข้อมูลครับ

ทั้งนี้ผมขอเล่า 2 เรื่องที่ผมสนใจมากที่สุดในจุดนี้ให้ทุกคนฟังแบบคร่าวๆ หน่อยนะครับ เผื่อใครที่ไม่มีโอกาสได้ไปที่นี่จะได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยเรื่องแรกก็คือเรื่อง ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจะสามารถแบ่งออกเป็น 6 ข้อด้วยกัน ได้แก่

  1. เป็นพลังงานหมุนเวียน โดยวงจรการผลิตชีวมวลคือวงจรของพืชที่มีระยะเวลาสั้น ต่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ต้องใช้เวลาในการทับถมกันนับล้านปี

  2. เศรษฐกิจท้องถิ่นจะเจริญเติบโต เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากสามารถขายได้ทั้งผลิตผลทางการเกษตรแล้วก็เศษเหลือจากทางการเกษตร

  3. มีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เพราะการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลนั้นสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในท้องถิ่นได้

  4. ช่วยสร้างงานในท้องถิ่น มีการจ้างงานเพื่อทำงานในโรงงานไฟฟ้า ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจรอบแหล่งผลิต มีเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น และผู้คนไม่อพยพออกไปทำงานที่อื่น

  5. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะในปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรประมาณ 135 ล้านตัน/ปี และในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชีวมวลได้มากถึง 3,157 เมกะวัตต์

  6. ความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ เพราะการที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กกระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศนั้น จะทำให้ปัญหาเรื่องไฟฟ้าไม่เพียงพอโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกลลดลงไปจากเดิม นอกจากนี้ชีวมวลยังเป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตขึ้นได้ภายในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้อีกด้วย

เรื่องที่สอง ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าชีวมวลกับการอยู่ร่วมกับชุมชน โดยผมขอย่อยเรื่องราวเหล่านี้ออกมาเป็นข้อๆ ดังนี้นะครับ

1. ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตขึ้นได้ภายในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้

2. ประเทศไทยมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรประมาณ 135 ล้านตัน/ปี และมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชีวมวลในปี พ.ศ. 2560 ได้ถึง 3,157 เมกะวัตต์

3. โรงไฟฟ้าชีวมวลช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่จากการขายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

4. โรงไฟฟ้าชีวมวลมีความปลอดภัยและสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างกลมกลืน โดยการที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลกระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

5. พื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลตั้งอยู่นั้น จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตต่างๆ ผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ซึ่งเป็นกองทุนที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน โดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้านี้จะมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ กองทุนประเภท ก ได้รับเงินจัดสรรมากกว่า 50 ล้านบาท/ปี, กองทุนประเภท ข ได้รับเงินจัดสรรมากกว่า 1 ล้านบาท/ปี แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี และกองทุนประเภท ค ได้รับเงินจัดสรรน้อยกว่า 1 ล้านบาท/ปี โดยกองทุนเหล่านี้จะมีการตั้งคณะกรรมการคอยพิจารณาการใช้เงินกองทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนมากที่สุดครับ

6. ในการจะจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลแต่ละโรงขึ้นมาได้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการหลายอย่างมาก เพื่อให้มั่นใจว่าโรงไฟฟ้านั้นปลอดภัยและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างกลมกลืน โดยกระบวนการคร่าวๆ นั้นจะประกอบไปด้วย

  • การจัดเวทีประชาคมเพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

  • มีแบบแผนการดำเนินการที่ชัดเจนทั้งก่อนสร้างและหลังสร้าง

  • ผู้ประกอบการมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ อย่างโปร่งใส

  • มีการสร้างองค์ความรู้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน

  • ผู้ประกอบการต้องมีการควบคุมมลภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ

  • โรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานและกฎข้อบังคับต่างๆ อย่างเคร่งครัด

  • มีการสร้างกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์

  • จัดให้มีกองทุนรอบโรงฟ้าเพื่อให้ชุมชนนำไปประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น พัฒนาชุมชน, สนับสนุนการศึกษา, เพิ่มประสิทธิภาพด้านการสาธารณสุขและการคมนาคม

  • มีการศึกษาดูงานเพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

  • มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนในการตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมีผู้ปรึกษาที่มีความรู้และเป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้การยอมรับ

เป็นยังไงล่ะครับ จะจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลแต่ละทีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยใช่มั้ยครับ ดังนั้นใครที่มีบ้านอยู่ใกล้ๆ กับที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชีวมวลก็ไม่ต้องเป็นกังวลไปนะครับ เพราะเค้ามีระเบียบในการดำเนินการและการก่อตั้งที่ชัดเจนมาก

โซนที่ 6 จุดการเรียนรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล : ที่จุดนี้จะมีการเล่าถึงวิธีการสร้างกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลว่ามีกระบวนการสร้างอย่างไร โดยทางศูนย์การเรียนรู้โรงไฟฟ้าชีวมวลจะใช้การเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือและ AR พร้อมทั้งมีการจัดแสดงโมเดลจำลองและ VTR ที่แสดงให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลและชุมชนนั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ผ่านกิจกรรม CSR และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าครับ

โซนที่ 7 จุดแสดงแผนที่ตั้งของโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย : จุดนี้จะเป็นจุดที่ใช้แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่จำนวนกี่โรง, มีสถานที่ตั้งอยู่ที่ใดบ้าง และมีข้อมูลเบื้องต้นของแต่ละที่เป็นอย่างไร โดยเราสามารถดูข้อมูลเหล่านี้ได้ผ่าน iPad และหน้าจอขนาดใหญ่ที่ทางศูนย์การเรียนรู้เตรียมไว้ให้ได้เลยครับ

และทั้งหมดนี้ก็คือทั้ง 7 โซนของศูนย์การเรียนรู้โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือ Biomass Power Plant Learning Center ของวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมารต์กริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลกครับ ซึ่งหลังจากที่ผมได้เดินดูจนครบทุกโซน มันก็ทำให้ผมรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นจากเดิมเยอะเลย และแน่นอนว่าการเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ในครั้งนี้ของผมมันได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่ผมมีต่อโรงไฟฟ้าชีวมวลไปจากเดิม รวมทั้งทำให้ผมรู้ว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นคือสิ่งที่มีความสำคัญกับประเทศไทย เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ ทั้งการผลิตไฟฟ้า การนำเอาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูป และที่สำคัญที่สุดก็คือโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไม่มีปัญหาเลยครับ

สำหรับใครที่สงสัยหรือมีความต้องการที่จะศึกษาเรื่องราวของโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็สามารถติดต่อขอไปดูเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ได้ที่ศูนย์การเรียนรู้โรงไฟฟ้าชีวมวล มหาวิทยาลัยนเรศวร ตามช่องทางนี้เลยครับ โดยการขอเข้าไปเยี่ยมชมนั้นจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ รวมทั้งหากต้องการให้ทางศูนย์การเรียนรู้พาไปศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้าชีวมวลของจริงก็สามารถทำได้ครับ

Tel : 055-963552-3

E-mail : remc@nu.ac.th

และสำหรับใครที่วางแผนว่าจะไปเยี่ยมชมศูนย์แห่งนี้ ผมก็อยากให้ทุกคนเผื่อเวลาไว้อีกซัก 1 ชั่วโมงเพื่อไปสักการะพระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารเพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิตด้วยนะครับ โดยระยะทางจากศูนย์การเรียนรู้โรงไฟฟ้าชีวมวลไปยังวัดนั้นใช้เวลาแค่ 20 นาทีก็ถึงแล้วครับ

ก็จบลงแล้วสำหรับบทความนี้ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านจนจบ และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวลนะครับ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องการติดตามเรื่องราวต่างๆ ของผมกับต๋งก็สามารถกดติดตามได้ที่เพจ “ภรรยาหา สามีใช้” ได้เลยครับ ส่วนใครที่ต้องการดูคลิปวีดีโอการเดินทางในทริปนี้ของผมก็สามารถกดูได้ที่คลิปด้านล่างนี้เลยครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของเราในวันที่ลองใช้บริการเท่านั้น ทั้งนี้แต่ละท่านที่ได้มีโอกาสใช้บริการอาจจะได้รับการบริการหรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากนี้ได้ครับ