หนึ่งในเรื่องที่หลายๆ คนที่ไม่ถนัดเรื่องของเทคโนโลยี, IT หรือ คอมพิวเตอร์ รู้สึกหวาดกลัวหรือไม่กล้าที่จะทดลองทำด้วยตัวเองนั่นก็คือ “การลง Windows ด้วยตัวเอง!!” ซึ่งแน่นอนว่าบุคคลที่ชอบมีปัญหากับคอมพิวเตอร์และเคยเกิดอาการคอมเอ๋อบ่อยๆ อย่างผมก็หวาดระแวงกับเรื่องนี้มากเหมือนกัน แต่ในที่สุดเมื่อสถานการณ์มันบีบบังคับ และคิดว่าตัวเองได้อ่าน ได้ศึกษา ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนมาพอดูแล้วก็พบว่า การลง Windows 10 ด้วยตัวเองนั้นมันง่ายมากๆ ใช้เวลาแค่ 20-30 นาทีก็เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเมื่อความมั่นใจเต็มเปี่ยมแบบนี้ได้มาประกอบกับความที่ผมขี้เกียจยกเครื่องคอมพิวเตอร์ออกไปที่ร้าน ดังนั้นผมก็เลยตัดสินใจซื้อแผ่น Microsoft Windows 10 Home ของแท้ มาลงเองที่บ้าน และก็พบว่ามันลงง่ายอย่างที่คนอื่นๆ เค้าบอกจริงด้วยครับ!!!
และไหนๆ มันก็ลงง่ายแบบนี้แล้ว รวมทั้งผมเชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายๆ คนที่ยังใจตุ้มๆ ต่อมๆ ไม่กล้าจะลง Windows ด้วยตัวเองอยู่ ผมก็เลยเขียนบทความนี้มาให้ทุกคนได้อ่านกันครับกับ “วิธีติดตั้ง Windows 10 ด้วย USB แบบง่ายๆ Step by step ที่ใครๆ ก็ทำตามได้“ ถ้าพร้อมแล้วก็ตามไปอ่านกันได้เลย!!
ประเภทของ Windows 10
ก่อนที่เราจะไปรู้จักวิธีการลง Windows 10 ด้วยตัวเองนั้น ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตเล่าให้ทุกคนรู้จักและเข้าใจก่อนครับว่า Windows 10 นั้นคืออะไร และมีทั้งหมดกี่ประเภท เพื่อที่เราจะได้ไปเลือกซื้อหามาลงได้ถูกต้อง ไม่ต้องเสียเงินทิ้งไปฟรีๆ ครับ
Microsoft Windows 10 คือระบบปฏิบัติการ Windows รุ่นล่าสุดที่ทาง Microsoft ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 โดยถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ระบบปฏิบัติการ Windows 10 นี้ ทาง Microsoft เค้าบอกว่าจะเป็น Windows version สุดท้าย หลังจากนี้ทาง Microsoft จะใช้ชื่อนี้ต่อไปเรื่อยๆ และจะปล่อยตัวอัพเดทมาเพิ่มความสามารถหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีการอัพเดทเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ หรือเปลี่ยนชื่อรุ่นเหมือนในอดีตที่ผ่านๆ มา ซึ่งพอได้อ่านแบบนี้แล้วก็เลยทำให้ผมตัดสินใจเลือกที่จะซื้อ license แท้มาใช้แบบไม่คิดอะไรมากเลยครับ เพราะเดี๋ยวนี้ค่า license ของโปรแกรมนี้ก็ไม่ได้แพงมากเท่าไหร่แล้ว หากเราใช้ยาวๆ 4-5 ปี รวมทั้งอัพเดทได้ตลอด มันก็เป็นอะไรที่คุ้มมากๆ แล้วครับ
โดยในตอนแรกที่ Windows 10 เปิดตัวนั้น ทาง Microsoft เองก็ได้เปิดตัวออกมามากมายหลายรุ่นหลายชื่อเลยทั้ง Home, Pro, Mobile, Enterprise และ Education แต่หลักๆ แล้วสำหรับ 2 รุ่นที่คนทั่วไป รวมทั้งบริษัทขนาดย่อยใช้งานในคอมพิวเตอร์ก็จะมีแค่ Windows 10 Home และ Windows 10 Pro เท่านั้น โดยทั้งสองรุ่นนี้จะมีความแตกต่างในการใช้งานตามลิงก์นี้ https://www.microsoft.com/th-th/windows/compare หรือตามตารางข้างล่างนี้เลยครับ





สำหรับคนที่ดูข้อมูลตามตารางแล้วไม่เข้าใจ ผมก็ขอสรุปง่ายๆ แบบคนที่มีความรู้บ้านๆ ตามนี้นะครับ
Windows 10 Home จะเป็น Windows ที่เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปใช้งาน โดยเราสามารถอัพเดทและใช้ฟังก์ชั่นพื้นฐานต่างๆ ได้ทั้งหมด ส่วน Windows 10 Pro นั้น จะเป็นระบบปฏิบัติการวินโดว์ที่เพิ่มความสามารถในการใช้งานคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องในธุรกิจ หรือในบริษัท เช่น การ Join Domain, การควบคุมคอมพิวเตอร์จากระยะไกล, นโยบายกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งเรื่องพวกนี้สำหรับ User หรือคนใช้งานทั่วไปจะไม่ได้ใช้อยู่แล้วครับ ดังนั้นใครที่จะซื้อมาใช้งานในบ้าน หรือใช้งานส่วนตัวก็ไม่ต้องคิดอะไรมากครับ จัดแบบ Windows 10 Home โลดดดดดด
โดยหลังจากที่เรารู้แล้วว่าเราจะเลือกซื้อ Windows 10 แบบใดมาใช้ คราวนี้เราก็ต้องมารู้จักอีกหนึ่งเรื่องนึงที่สำคัญก่อนที่เราจะลง Windows ด้วยตัวเองครับ นั่นก็คือเรื่องของประเภท Windows 10 License โดยในปัจจุบันนี้เท่าที่ผมทราบ ทาง Microsoft จะมีการแบ่งประเภทของ License Windows 10 ออกเป็นดังนี้ครับ
- Windows 10 OEM แบบ Preload จากโรงงาน : Windows 10 ประเภทนี้จะเป็น Windows 10 ที่ถูกที่สุด โดยจะมีการติดตั้งมากับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราซื้อมาเลย และเราไม่สามารถหาซื้อได้ โดยเมื่อเราเปิดคอมพิวเตอร์ในครั้งแรกเราก็จะสามารถใช้งานได้ทันที ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม แต่ Windows 10 ประเภทนี้จะมีข้อเสียคือ เราจะไม่สามารถย้าย license ไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้เลย และหากเครื่องเราเกิดมีปัญหาจำเป็นต้อง Format หรือลง Windows ใหม่ เราก็จะต้องวุ่นวายหน่อยๆ เพราะเราต้องไป Download โปรแกรม Windows 10 ใหม่มาลงเองครับ
- Windows 10 OEM : Windows 10 ประเภทนี้เราจะสามารถหาซื้อจากร้านจำหน่ายต่างๆ ได้เองเลย และเราสามารถที่จะนำไปลงที่คอมพิวเตอร์เครื่องไหนก็ได้ แต่จะลงได้เพียงแค่เครื่องเดียวเท่านั้น ไม่สามารถย้ายเครื่องคอมพิวเตอร์ไปมาได้ (สามารถลงเครื่องเดิมซ้ำกี่รอบก็ได้) รวมไปถึงหากคุณมีปัญหาจำเป็นต้องเปลี่ยนเมนบอร์ด (Mainboard) ของเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ Windows 10 แบบ OEM นี้ก็จะไม่สามารถย้าย license ไปยัง mainboard ใหม่ได้ คุณจะต้องเสียเงินไปซื้อ license ใหม่มาลงอีกครั้งครับ T_T
- Windows 10 FPP : Windows 10 ประเภทนี้จะเป็น Windows 10 ที่เราสามารถย้ายเครื่องไปมาได้แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่เราจะสามารถใช้ได้แค่ทีละ 1 เครื่องเท่านั้น โดยสิทธิ์หรือ license นั้นจะติดกับกล่องและ USB ที่เราได้มา หากเราต้องการจะย้ายสิทธิ์หรือ license ไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ เราก็เพียงโทรติดต่อไปยัง Call Center ของ Microsoft Thailand หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะแนะนำวิธีการย้ายสิทธิ์ให้คุณทำตามอย่างง่ายๆ ครับ ซึ่งด้วยความที่ Windows 10 แบบ FPP นั้น สามารถย้ายสิทธิ์ ย้ายเครื่องได้แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง นั่นก็เลยทำให้ Windows 10 แบบ FPP มีราคาสูงกว่า Windows 10 แบบ OEM นั่นเองครับ
หลังจากที่เรารู้จักประเภทของ Windows 10 รวมทั้งเรื่องของ License เรียบร้อยแล้ว ผมว่าตอนนี้ทุกคนก็คงจะรู้กันแล้วนะครับว่าแต่ละคนจะซื้อ Windows 10 แบบไหนมาใช้งาน อย่างผมเองก็ตัดสินใจเลือกซื้อ Windows 10 Home 32/64bit Intl USB (FPP) มาครับ เพราะผมชั่งใจแล้วว่าส่วนต่างของแบบ FPP ที่มีราคาสูงกว่าแบบ OEM ประมาณ 400 บาทนั้น ถือว่าคุ้มค่ากว่าในระยะยาว เพราะหากเราซื้อแบบ OEM มาใช้ เกิดวันดีคืนดีคอมพิวเตอร์เรามีปัญหาอะไร จำเป็นต้องเปลี่ยนคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ Windows 10 แบบ OEM นั้นจะมีมูลค่าเท่ากับศูนย์ทันทีเลยครับ T_T
หมายเหตุ : สำหรับคนที่ต้องการซื้อ Windows 10 พร้อมทั้ง license มาใช้งาน ผมแนะนำให้ซื้อจากร้านจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น J.I.B., Banana IT หรือร้านอื่นๆ มากกว่าซื้อตรงกับเวบของไมโครซอฟท์นะครับ เพราะผมเช็คราคาหลายรอบแล้วพบว่าราคาตามร้านถูกกว่าเวบของไมโครซอฟท์หลายพันเลย อย่าง Windows 10 Home OEM ร้านค้า IT จะจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 3,790 บาท และ Windows 10 Home FPP จะจำหน่ายอยู่ประมาณ 4,190 บาทเท่านั้นเองครับ
และนี่ก็คือหน้าตาของ Windows 10 Home 32/64bit Intl USB (FPP) ที่ผมซื้อมาครับ ขนาดของกล่องประมาณ A5 ดีไซน์สวยงามด้วยโทนสีน้ำฟ้าขาว โดยหลังจากที่ผมทำการแกะซีลพลาสติกและเปิดดูของข้างในก็พบว่าภายในกล่องจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์สำคัญสามอย่าง ดังนี้
- USB Drive ที่ใส่ไฟล์ติดตั้ง Windows 10 Home พร้อมหมายเลข Serial ของ USB
- การ์ดพลาสติกที่ระบุ Product Key (หมายเลข Product Key นี้เป็นอะไรที่สำคัญมากกกก กรุณาเก็บไว้ให้ดีๆ อย่าทำหายนะครับ)
- คู่มือที่บอกขั้นตอนการติดตั้ง Windows 10 แบบง่ายๆ
วิธีติดตั้ง Windows 10
เกริ่นมายาวมาก ลำดับต่อไป เราไปดูขั้นตอนวิธีการลง Windows 10 Home แบบ step by step กันดีกว่าครับ โดยหากใครที่ต้องการจะลงในคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีการเปิดการใช้งานมาก่อน ก็ไม่ต้องกังวลอะไรมากครับ เพราะเครื่องนั้นไม่มีข้อมูลอะไรให้หายอยู่แล้ว แต่หากใครที่ต้องการจะลง Windows ในเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดิมที่มีข้อมูลและระบบปฏิบัติการ Windows ในเครื่องนั้นอยู่แล้ว ก็ต้องทำการสำรองข้อมูล (Back up data) ทั้งหมดจาก Harddisk ลูกที่คุณต้องการลง Windows ให้เรียบร้อยก่อนนะครับ เพราะการลง Windows ใหม่นั้น มันจะต้องทำการ Format หรือล้างข้อมูลใน Drive นั้นของคุณหมดเลย โดยในกรณีที่ Harddisk ลูกที่คุณต้องการลง Windows นั้น มีการแบ่ง Partition ไว้เป็นหลายไดรฟ์ คุณก็ต้องทำการสำรองข้อมูลในทุก Partition เลยนะครับ เพราะมันถือว่าเป็น Harddisk ลูกเดียวกัน ^^
เอาล่ะ เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วเราก็มาเริ่มติดตั้ง Windows 10 ด้วยตัวเองกันเลยครับ
1. เสียบ USB Drive ที่เราได้มาจากการซื้อ Windows 10 Home เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ จากนั้นให้ทำการ Restart เครื่องคอมพิวเตอร์ โดยหากใครที่ปิดเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้วก็ให้เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ตามปกติ (สำหรับใครที่ซื้อ Windows 10 แบบที่ไม่มี USB Drive ที่ใส่ไฟล์สำหรับติดตั้ง Windows 10 มาให้ด้วย ก็สามารถเข้าไปโหลดไฟล์ iso เพื่อติดตั้ง Windows 10 ได้จากทางเวบของไมโครซอฟท์ได้เลยครับ โดยเราสามารถโหลดแล้วเซฟลง USB Drive หรือ Write ลงแผ่น DVD ก็ได้ แต่ผมแนะนำว่าเอาลง USB Drive จะสะดวกกว่าครับ)
2. หลังจากที่คอมพิวเตอร์ของคุณเริ่มทำงาน ให้เรากดปุ่ม Boot menu หรือปุ่ม Boot Options ตามรุ่นของคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งาน โดยให้เราเริ่มกดตอนที่หน้าจอแสดงโลโก้ของยี่ห้อคอมพิวเตอร์หรือเมนบอร์ดของเครื่องนั้นครับ ซึ่งคอมพิวเตอร์หลายๆ ยี่ห้อมักจะใช้ปุ่ม F9 หรือ F12 เป็นหลัก จากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราก็จะเข้าสู่หน้า Boot menu ครับ
3. ให้เราเลือกหัวข้อตามที่เราต้องการให้เครื่องคอมพิวเตอร์เราบู๊ทเครื่อง โดยหากใครใช้ USB Drive เหมือนผมก็ให้เลือก boot จาก usb ตามภาพด้านล่างนี้ครับ
4. ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์จะปรากฏข้อความมาถามเราว่า เราต้องการติดตั้ง Windows แบบ 32-Bit หรือ 64-Bit เราก็เลือกแบบที่เราต้องการได้เลยครับ โดยเครื่องของใครที่มีแรมน้อยกว่า 4Gb ก็ให้เลือกเป็นแบบ 32-bit ส่วนเครื่องของใครที่มีแรมมากกว่าหรือเท่ากับ 4Gb ก็ให้เลือกแบบ 64-bit ครับ

5. ให้เราเลือก Time and currency format ครับ โดยผมแนะนำว่าให้เลือกเป็น Thai หรือ English (United States) ก็ได้ เมื่อเราเลือกเสร็จแล้วก็ให้กดที่ปุ่ม Next

6. พอเจอหน้าจอนี้โผล่ขึ้นมาก็กดที่ปุ่ม Install now ได้เลยครับ

7. หลังจากที่หน้าจอคอมพิวเตอร์เรามีหน้าต่าง Activate Windows แบบนี้โผล่ขึ้นมา ก็ให้เราหยิบเอาการ์ดพลาสติกที่อยู่ในกล่อง Windows 10 Home FPP ที่เราซื้อขึ้นมา จากนั้นก็พลิกดูที่ด้านหลังของการ์ดก็จะเจอกับหมายเลข Product Key ครับ ให้เราทำการกรอก Product Key ให้ถูกต้องทุกตัวอักษร แล้วก็กดปุ่ม Next (เราสามารถพิมพ์ตัวอักษรทั้งหมดติดกันไปยาวๆ ได้เลย เดี๋ยวระบบมันจะทำการแบ่งวรรคและทำเป็นตัวใหญ่ให้เราเองครับ)

8. กดเครื่องหมายถูกที่หน้าข้อความ I accept the license terms จากนั้นกด Next

9. ที่หน้านี้ให้เราเลือกเป็น Custom : Install Windows only (advance) ครับ

10. เลือกไดรฟ์ที่เราต้องการติดตั้ง Windows โดยระบบจะโชว์ Harddisk ทั้งหมดที่เรามีในเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น หากเราต้องการจะลง Windows ที่ Drive ไหนก็ให้เลือกที่ Drive นั้น โดยหากเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดิมที่มีข้อมูลและ Windows อยู่แล้ว เราจะต้องทำการเลือกที่ Drive นั้นและทำการ Format เสียก่อน ดังนั้นก่อนที่เราจะเลือก Drive ไหนเป็นตัวติดตั้ง Windows ผมแนะนำให้ทุกคนดูดีๆ ก่อนนะครับว่าเลือกถูกไดรฟ์มั้ย และได้ทำการสำรองข้อมูลทั้งหมดครบถ้วนแล้วหรือยัง เพราะถ้ากดเลือกผิดไดรฟ์นี้เศร้ายาวๆ เลยนะครับ T_T
หมายเหตุ : หากเป็น Harddisk ที่ยังไม่เคยติดตั้ง Windows มาก่อนหรือเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ เราสามารถกดตรงคำว่า New เพื่อแบ่ง Partition Harddisk เป็นขนาดที่เราต้องการได้เลย (หน่วยที่แสดงจะเป็น MB โดย 1024 Mb จะมีค่าเท่ากับ 1 Gb) จากนั้นก็ให้เรากดที่คำว่า Apply และคำว่า Next ครับ

11. หน้าจอคอมพิวเตอร์เราจะแสดงผลและสถานะของการติดตั้ง Windows โดยหลังจากที่ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย เครื่องคอมพิวเตอร์จะทำการ Restart เองประมาณ 2-3 ครั้งครับ

12. เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์เราติดตั้ง Windows เสร็จเรียบร้อยก็จะมีหน้าจอนี้โผล่ขึ้นมาครับ ให้เราเลือกคำว่า Thailand แล้วกดปุ่ม Yes ได้เลย

13. หน้านี้จะเป็นการตั้งค่า Keyboard ครับ ให้เราเลือก US แล้วกดปุ่ม Yes

14. หน้านี้จะเป็นการตั้งค่า Keyboard แบบที่สองครับ ใครที่ไม่ต้องการก็กดปุ่ม Skip ข้ามไปได้เลย

15. หลังจากที่หน้าจอนี้โผล่ขึ้นมา ก็แสดงว่าใกล้จะถึงจุดสุดท้ายของการติดตั้ง Windows 10 แล้วครับ โดยหน้านี้จะให้เราใส่ Microsoft Account ลงไป ใครที่มีอยู่แล้วก็กรอกใส่ไปได้เลยง่ายๆ สบายๆ แต่หากใครไม่มีก็สามารถกดสมัครตรงคำว่า Create Account ได้เลยครับ การสมัครไม่ได้ยากอะไร ทำไปตามขั้นตอนเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เสร็จครับ ^^
หมายเหตุ : สำหรับขั้นตอนนี้เราจะสามารถใส่ User Account ได้สองแบบนะครับ แบบแรกคือ Microsoft Account ซึ่งจะเป็นการใช้อีเมลของ Microsoft เช่น @hotmail.com, @outlook.com เพื่อใช้ Login เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใครที่มี Account อยู่แล้วจะสะดวกมากในการใช้งาน เพราะมันจะลิงก์กับ Onedrive และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของ Microsoft หมดเลย แต่หากใครที่ไม่ต้องการใช้ Microsoft Account ก็สามารถสร้างเป็น User Account แบบที่สอง ที่เรียกว่า Offline Account เพื่อใช้งานเฉพาะคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ก็ได้ครับ (วิธีการสร้าง Offline Account นั้นให้เรากดไปที่ด้านล่างซ้ายของจอคอมพิวเตอร์นะครับ)

16. สำหรับคนที่เลือกสร้าง Offline Account ระบบก็จะมีให้เราพิมพ์ชื่อ User และ Password ที่เราต้องการ Login เข้าเครื่องครับ (หากใครไม่ต้องการใส่ Password ก็ให้เว้นว่างไว้) แต่หากใครที่ลงชื่อเข้าใช้คอมพิวเตอร์ด้วย Microsoft Account ระบบจะบังคับให้เราต้องใส่ Pin ตามหน้านี้ โดย Pin นั้นจะเปรียบเสมือน Password เข้าใช้งานแต่จะมีการกำหนดว่าต้องมีตัวอักษรใหญ่เล็ก, ตัวเลข และตัวอักษรที่เป็นเครื่องหมายต่างๆ มาผสมด้วย ซึ่งก็เลยทำให้ Password นี้มีความยุ่งยากหรือถูก Hack ได้ยากกว่าปกติครับ

17. สองหน้านี้จะขึ้นมาเฉพาะคนที่ใช้ Microsoft Account ในการ log in เท่านั้น โดยจะเป็นการผูกเบอร์โทรศัพท์และลิงก์ข้อมูลกับ Onedrive ของเราครับ หากใครไม่ต้องการก็สามารถกดข้ามไปได้


18. เมื่อหน้านี้โผล่ขึ้นมาก็แสดงว่าคุณมาถึงขั้นตอนสุดท้ายของการติดตั้ง Windows 10 แล้วครับ แต่ละคนก็ลองอ่านดูนะครับว่าต้องการเปิดฟังก์ชั่นไหนบ้าง แต่โดยส่วนตัวผมแนะนำให้เปิด On ไว้หมดก่อน หากไม่ชอบใจอะไรเราค่อยไปปิดทีหลังก็ได้ โดยเมื่อเราเลือกเสร็จทุกหัวข้อแล้วก็ให้เรากดคำว่า Accept ครับ

19. นั่งรอซักพัก เครื่องคอมพิวเตอร์ของเราก็จะเข้าสู่หน้า Desktop ของ Windows 10 และพร้อมจะใช้งานแล้วครับ โดยสิ่งแรกที่ผมอยากจะให้ทุกคนทำก่อนเลยนั่นก็คือไปที่เครื่องหมายแว่นขยายที่มุมด้านล่างซ้ายของหน้าจอ จากนั้นก็พิมพ์คำว่า Windows Update และทำการตรวจเช็คก่อนว่า Windows 10 ของเราเป็น Version ล่าสุดแล้วหรือยัง หากยังไม่เป็น Version ล่าสุดก็ให้เราติดตั้งตัวอัพเดทต่างๆ เพิ่มเติมให้เสร็จแล้วก็ทำการ Restart เครื่องครับ
20. เมื่อเครื่องเรา Restart เสร็จเรียบร้อย คราวนี้แต่ละคนก็ทำการลงโปรแกรมหรือ Back Up ไฟล์ข้อมูลต่างๆ ได้ตามใจชอบ หรือใช้งานอื่นๆ ได้เลยครับ ^^
เป็นยังไงล่ะครับ กับ 20 ขั้นตอนง่ายๆ Step by step ที่ทำให้เราสามารถติดตั้ง Windows 10 Home FPP ได้ด้วยตนเอง ใครที่กำลังกังวลว่ามันจะลงยาก หรือกลัวลงแล้วมีปัญหาก็ลองอ่านดูแล้วค่อยๆ ทำตามนะครับ ผมทำได้คุณก็ทำได้ครับ!!!
ขอบคุณทุกๆ ท่านที่ติดตามอ่านจนจบนะครับ และหากใครที่ต้องการติดตามรับข่าวสารจากผมอย่างใกล้ชิด ก็สามารถติดตามได้ที่แฟนเพจ “ภรรยาหา สามีใช้” ได้เลยครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ