รู้หรือไม่ว่ายี่ห้อ “บาจา (Bata)” นั้น ไม่ใช่บริษัทของคนไทยนะ แต่เป็นของสาธารณรัฐเช็กครับ ^^

ผมคิดว่าน่าจะมีหลายคนเหมือนกันที่เข้าใจผิดคิดว่าบริษัทบาจานั้นเป็นของคนไทยครับ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คนเข้าใจผิดกันก็น่าจะเป็นเพราะ 2 ข้อด้านล่างนี้ล่ะครับ

1. แบรนด์นี้มีการสะกดด้วยภาษาอังกฤษว่า “Bata” ซึ่งถ้าอ่านตามวิธีบ้าน ๆ ทั่วไป มันก็จะอ่านว่า “บาทา” ซึ่งตรงกับคำภาษาไทยที่แปลว่าเท้า อันเป็นชื่อที่สื่อถึงผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทนี้อย่างรองเท้าพอดีเด๊ะเลยครับ

2. แบรนด์นี้เป็นแบรนด์เก่าแก่มากกกกกก มีอายุมากกว่า 125 ปีแล้ว แถมยังมีการเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2472 หรือเมื่อ 93 ปีก่อนด้วย ดังนั้นบอกเลยว่ากว่า 95% ของคนไทยในตอนนี้ พอเกิดมาปั๊บก็ต้องเคยเห็นหรือได้ยินชื่อผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้อย่างแน่นอนครับ

ซึ่งจาก 2 ข้อนี้มันก็ไม่แปลกหรอกครับที่หลาย ๆ คน (รวมทั้งผมและต๋ง) จะเกิดความเข้าใจผิดได้ แต่หลังจากที่ผมได้ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดู ผมก็พบว่าจริงแล้ว ๆ บริษัทบาจานั้นเป็นบริษัทที่มีต้นกำเนิดในประเทศเชคโกสโลวาเกียครับ (ชื่อประเทศ ณ ตอนนั้น) และมีประวัติความเป็นมาคร่าว ๆ ดังนี้

ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2437 หรือเมื่อประมาณ 125 ปีที่แล้ว แบรนด์ “บาจา” ได้ถือกำเนิดเป็นครั้งแรกในโลกที่เมืองซลิน ประเทศเชคโกสโลวาเกีย โดยมีผู้ก่อตั้งก็คือ “มิสเตอร์โทมัส บาจา” ซึ่งเป็นลูกหลานของตระกูลช่างทำรองเท้าหนังแบบเย็บมือที่เก่าแก่มากถึง 8 ช่วงอายุคนครับ (รวมอายุของตระกูลแล้วมากกว่า 300 ปีเลยทีเดียว)

โดยตอนนั้นมิสเตอร์โทมัส บาจา ได้เข้ามารับช่วงต่อกิจการของครอบครัวครับ และเค้ากับพี่น้องอย่างแอนนา บาจา และแอนโทนี่ บาจา ก็มีความคิดที่จะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของครอบครัวใหม่ ให้เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้นพวกเค้าก็เลยลงทุนก่อตั้งกิจการทำรองเท้าขึ้นมาในเมืองซลิน และด้วยความฉลาด, ไหวพริบ และวิสัยทัศน์ต่าง ๆ ของพวกเค้า ก็ทำให้บริษัทบาจานั้นมีการเติบโตที่รวดเร็วมาก จนมีพนักงาน 50 คนภายในระยะเวลา 1 ปีเท่านั้นเองครับ

โดยจุดเปลี่ยนและเป็นจุดสำคัญมาก ๆ ของบริษัทบาจาก็คือ หลังจากที่เค้าเริ่มกิจการได้ไม่นาน บริษัทก็ประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก จนทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและรูปแบบใหม่ จากตอนแรกที่ธุรกิจรองเท้าของบาจาจะใช้วัสดุที่เป็นหนังเป็นหลัก แต่พอบริษัทเจอวิกฤต เค้าก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ด้วยการใช้วัสดุผ้าใบแทนเพื่อลดต้นทุน แต่กลับกลายเป็นว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พลิกสถานการณ์บริษัทครั้งใหญ่ครับ เพราะว่ารองเท้าผ้าใบแบบนั้นได้รับความนิยมอย่างสูงมาก จนมีคนสนใจซื้อเป็นจำนวนมาก และทำให้บริษัทมีกำไร มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพอธุรกิจเริ่มมีการเติบโตขึ้น ทางบาจาก็ได้มีการนำเอาระบบการผลิตแบบสายพานเข้ามาใช้แทนการผลิตแบบเดิมที่ทำด้วยมือแบบคู่ต่อคู่ครับ และนั่นยิ่งทำให้บริษัทบาจามีการเติบโตขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก ๆ

และด้วยวิสัยทัศน์ของทางบาจาที่วางไว้ว่า “เราจะผลิตรองเท้าให้คนทั้งโลกได้สวมใส่ (To put shoes on the feet of the world)” มันก็เลยทำให้บริษัทบาจามีการขยายอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งได้มีการขยายสาขาออกไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย จนในที่สุดปัจจุบันนี้ทางบาจาก็ได้มีสาขาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 70 ประเทศเลยครับ รวมถึงยังได้มีการแตกไลน์สินค้าอื่น ๆ นอกเหนือจากรองเท้าอีกด้วย เช่น กระเป๋า, เข็มขัด เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทยนั้น ทางบาจาได้เริ่มเข้ามาทำการตลาดเมื่อปี พ.ศ. 2472 โดยมีสาขาแรกอยู่ที่ถนนเจริญกรุงครับ และเริ่มต้นจากการผลิตรองเท้านักเรียนด้วยพนักงานเพียง 15 คนเท่านั้น ต่อมาเมื่อผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ได้มีการขยายธุรกิจเพิ่มเติม จนปัจจุบันนี้มีโรงงานใหญ่อยู่ที่ลาดกระบังครับ รวมถึงมีช็อปสินค้าตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศมากกว่า 230 แห่ง

และสิ่งนึงที่น่าชื่นชมมาก ๆ ก็คือทางบริษัท บาจา ประเทศไทย เค้ามีวิสัยทัศน์นึงที่ยึดเอาไว้ตั้งแต่วันแรกของการเริ่มต้นในธุรกิจประเทศไทยว่า “จะมุ่งมั่นสร้างสรรค์รองเท้าที่ใส่สบาย มีสไตล์ ในราคาจับต้องได้สำหรับคนไทยครับ”

ก็ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่น่าชื่นชม และอยากให้เค้ารักษาเอาไว้ได้ตลอดไปจริง ๆ ครับ เพราะผลดีก็จะเกิดขึ้นกับเราซึ่งเป็นผู้บริโภคนี่แหละ ^^

หมายเหตุ : ปัจจุบันนี้สำนักงานใหญ่ของบริษัทบาจา อยู่ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์นะครับ ส่วนจำนวนช็อปที่เค้ามีทั่วโลกตอนนี้ก็มีมากกว่า 5,300 ร้าน และมีโรงงานผลิตอยู่ใน 18 ประเทศครับ